Your browser doesn’t support HTML5
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เข้าพิธีปฏิญาณตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 แห่งประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน เมื่อช่วงเที่ยงวันพุธตามเวลาสหรัฐฯ
โจ ไบเดน ในวัย 78 ปี ในฐานะประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐฯ ขึ้นกล่าวหลังการปฏิญาณตนรับตำแหน่งผู้นำคนใหม่ของอเมริกาว่า นี่คือวันของอเมริกา วันแห่งประชาธิปไตย วันนี้คือวันแห่งประวัติศาสตร์และวันแห่งความหวัง การเริ่มต้นใหม่ และความมุ่งมั่น และได้ย้ำว่าความเป็นหนึ่งเดียวกันคือหนทางในการก้าวไปข้างหน้า
ในพิธีปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่ง หรือ Inauguration เป็นประเพณีที่ดำเนินสืบเนื่องกันมาในระบบการเมืองสหรัฐที่มีมากว่า 200 ปี ตั้งแต่ยุคของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน ซึ่งเข้าพิธีปฏิญาณตนเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ เมื่อปี ค.ศ. 1789
Your browser doesn’t support HTML5
แต่ด้วยภาวะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และเหตุวุ่นวายที่กรุงวอชิงตัน จากการบุกอาคารรัฐสภาของผู้ประท้วงที่สนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อ 6 มกราคมที่ผ่านมา ทำให้พิธีปฏิญาณตนรับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯคนที่ 46 นี้ ต้องเจอกับความปกติใหม่หลากหลายด้านด้วยกัน
ที่เห็นได้ชัดเจน คือ การคุ้มกันรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุดทั่วกรุงวอชิงตัน โดยตั้งแต่ต้นสัปดาห์มาจนถึงช่วงเช้าวันพิธีปฏิญาณตน ทั่วกรุงวอชิงตัน ระดมกำลังการอารักขาขั้นสูงสุด สำหรับพิธีรับตำเเหน่งผู้นำประเทศในประวัติศาสตร์อเมริกัน
รอบๆอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เพิ่มระดับความปลอดภัยสูงสุดด้วยรั้วกั้นสูง 4 เมตร เพิ่มเป็น 2 ชั้น บางจุดใกล้อาคารรัฐสภาเพิ่มรั้วลวดหนามเข้าไปอีก และเพิ่มจุดตรวจของเจ้าหน้าที่ทั่วกรุง ทุกตรอกซอกซอย เต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายพันนาย กองกำลังสำรอง National Guard กว่า 25,000 นาย มีการสั่งปิดถนนรวมถึงสะพานที่มุ่งหน้ามายังกรุงวอชิงตันและอาคารรัฐสภาสหรัฐฯเกือบทั้งหมด รวมทั้งปิดสถานีรถไฟฟ้าที่เข้ามายังกรุงวอชิงตันหลายสถานี และเพิ่มจุดตรวจด้านหน้าสถานีรถไฟฟ้าบางพื้นที่ด้วย
บรรยากาศเหล่านี้ถ้าจะเรียกว่าปิดกรุงวอชิงตันก็ไม่ผิดอะไร และเป็นปรากฏการณ์ที่แม้แต่ชาวอเมริกันในกรุงวอชิงตันเองยังรู้สึกตระหนกกับภาพที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทั้งที่มีอาวุธและไม่มีอาวุธ เจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบประจำการกันทุกพิกัดในกรุงวอชิงตันเช่นนี้ จากความกังวลว่าอาจมีการประท้วงรุนแรงเกิดขึ้นในเมืองหลวงของสหรัฐฯ ในวันสำคัญนี้ หลังจากเหตุการณ์ 6 มกราคมที่ผ่านมา ที่ผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไปบุกอาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตัน
ตลอดทั้งวันนี้ ไม่พบการชุมนุมเดินขบวนอย่างที่หลายฝ่ายกังวล และค่ำคืนวันอังคารก่อนพิธีปฏิญาณตนผู้นำสหรัฐฯ ทางการปลดเจ้าหน้าที่กองกำลังสำรอง National Guard ไป 12 นาย หลังจากพบว่า 2 นายในนั้น มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธ ตามรายงานของ The Washington Post
นอกจากการคุ้มกันสูงสุดแล้ว ยังมีการผสมผสานธรรมเนียมปฏิบัติกับความปกติใหม่ จากที่ปกติแล้ว ฝูงชนเรือนแสนเรือนล้านคนจะมาร่วมชมพิธีการสำคัญของสหรัฐฯ ครั้งนี้ แต่จากมาตรการคุ้มกันสุดเข้มในกรุงวอชิงตัน และมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่
พื้นที่ลาน National Mall กลายเป็นการจัดแสดงริ้วธงกว่า 200,000 ชิ้น เป็นตัวแทนของชาวอเมริกันทั่วประเทศเพื่อการนี้ เช่นเดียวกับการจำกัดผู้เข้าร่วมพิธีปฏิญาณตนจากราว 2 แสนคน เหลือเพียงกว่า 2 พันคนเท่านั้น และประชาชนทั้งในอเมริกาและนานาประเทศรอชมภาพแห่งประวัติศาสตร์นี้ผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ทั่วอเมริกาและทั่วโลก
แต่เมื่อใกล้ถึงช่วงเวลาสำคัญในพิธีปฏิญาณตนรับตำแหน่งของประธานาธิบดีไบเดน และรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ปรากฏว่ามีประชาชนจำนวนหนึ่ง ทั้งจากกรุงวอชิงตัน และปริมณฑล ฝ่าอากาศหนาวเหน็บและหิมะตกโปรยปราย เพื่อมารอชมภาพแห่งประวัติศาสตร์นี้กันคึกคัก บางส่วนถือธงชาติเล็กๆมาโบกสะบัดรับพิธีการสำคัญนี้ แม้ว่าจุดที่พวกเขาสามารถชมบรรยากาศสำคัญนี้ได้ จะห่างไกลจากหน้าอาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตันอยู่มาก และยังต้องชมภาพแห่งประวัติศาสตร์นี้ จากรั้วเหล็กกั้นหลายชั้นก็ตาม
ส่วนขบวนพาเหรด Parade Across America ปีนี้จะจัดแบบออนไลน์ ตั้งแต่เวลา 15.15 น. เป็นต้นไป ในระหว่างนี้นายไบเดนและนางแฮร์ริส จะร่วมชมการเดินสวนสนามของทหารอเมริกันตามธรรมเนียมปฏิบัติ แต่ปีนี้จะมีการใช้มาตรการเว้นระยะห่างของทหารที่เข้าร่วมพิธี ก่อนที่ นายไบเดนจะเดินทางไปยังทำเนียบขาวท่ามกลางการติดตามอารักขาของเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงจากทุกหมู่เหล่าอย่างพร้อมเพรียงภายใต้การเว้นระยะห่างเช่นกัน
หลังจากเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงเที่ยงของวันพุธที่ 20 มกราคมแล้ว ประธานาธิบดีไบเดน ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองอเมริกันมาเกือบครึ่งศตวรรษ เคยเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯมาแล้ว 8 ปี และลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมาถึง 3 ครั้งกว่าจะคว้าชัยชนะมาได้ เริ่มต้นวันแรกในฐานะประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐฯ ด้วยการลงนามคำสั่งพิเศษฝ่ายบริหารมากมายในวันเดียวกันนี้ รวมทั้งเตรียมสะสางและปรับปรุงท่าทีของสหรัฐฯ ต่อประชาคมโลกในยุคของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นวาระสำคัญ
หลังจากวันนี้ ยังมีความท้าทายอีกมากมาย ที่รอให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต้องพิสูจน์ผลงาน ตั้งแต่วิกฤตสาธารณสุข จากภาวะการระบาดของโควิด-19 ปัญหาเศรษฐกิจ และความแตกแยกในสังคมอเมริกัน แต่ทีมงานของไบเดน ได้กล่าวว่า แม้จะเป็นความหวังสูงในเป้าหมาย แต่ก็เป็นเรื่องที่หวังได้ว่าจะทำสำเร็จ ซึ่งต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดนับจากนี้