Your browser doesn’t support HTML5
'วิทยุเสียงอเมริกา' หรือ วีโอเอ เริ่มต้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังสหรัฐประกาศเข้าสู่สงครามร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรทำสงครามกับฝ่ายอักษะและประกาศสงครามกับญี่ปุ่นหลังถูกโจมตีในเหตุการณ์เพิร์ล ฮาร์เบอร์เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2484
ว้อยซ์ ออฟ อเมริกา เริ่มออกอากาศครั้งแรกในภาษาเยอรมัน และอีก 4 ภาคภาษาในยุโรป เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์พุทธศักราช 2485 กระจายเสียงจาก สำนักงานข่าวสารสงคราม หรือ Office Of War Information [OWI] ในนครนิวยอร์กทางฝั่งตะวันออกข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกสู่ภาคพื้นยุโรป ประกาศย้ำจุดยืนการกระจายเสียงตั้งแต่วันแรกว่า 'ไม่ว่าจะเป็นข่าวดีหรือข่าวร้าย Voice of America จะรายงานความจริง'
ขณะที่ในภาคพื้นเอเชีย หลังกองทัพญี่ปุ่นบุกโจมตีและเข้ายึดครองหลายประเทศ หน่วยงานกระจายเสียงระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ภายใต้ได้ตั้งสำนักงานที่นครซานฟรานซิสโก มุ่งกระจายเสียงออกอากาศในภาคภาษาต่างๆ ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิคสู่ภาคพื้นเอเชียบูรพา
โดยมี ว้อยซ์ ออฟ อเมริกา ภาคภาษาไทย ออกอากาศเป็นทางฝั่งตะวันตกครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พุทธศักราช 2485
ในรายงานของคุณประภัสสร อักขราสา อดีตนักกระจายเสียงระหว่างประเทศของภาคภาษาไทย ที่เรียบเรียงรายบันทึกการสัมภาษณ์ผู้ประกาศข่าวรุ่นแรกของวีโอเอไทย ระบุว่า ผู้ประกาศรุ่นแรกภาคภาษาไทยนั้น ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนไทยที่กำลังศึกษาต่อในสหรัฐฯ ที่เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย ร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการต่อต้านญี่ปุ่นที่ยึดครองประเทศไทย และหลายประเทศในเอเชียในขณะนั้น
โดยมีคุณราชัน กาญจนะวณิชย์ นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นผู้ประกาศคนแรก
'ข่าวตอนนั้นมีแต่ข่าวร้ายทั้งนั้นครับ วันแรกเท่าที่ผมจำได้นั้น สิงคโปร์กำลังพร้อมที่จะยอมจำนนนะครับ ส่วนในฟิลิปปินส์ ทหารอเมริกันก็กำลังถอยออกจากกรุงมะนิลา นั่นก็เป็นข่าวใหญ่วันแรกของทางด้านแปซิฟิค ส่วนทางด้านยุโรปนั้น ฝั่งพันธมิตรก็กำลังถอยอย่างไม่เป็นท่า' คุณราชัน กาญจนะวณิชย์ เล่าถึงการออกอากาศของวีโอเอ ภาคภาษาไทย ในวันแรก
การออกอากาศในขณะนั้นผู้ประกาศจะแปลข่าว และอ่านอัดแผ่นเสียงส่งไปสถานีวิทยุเอกชนเพื่อออกอากาศทางคลื่นสั้น โดยจะเป็นข่าวที่ได้รับมาสำนักงานที่นครนิวยอร์กและกรุงวอชิงตัน ขณะเดียวกันนอกจากข่าวแล้วยังเปิดเพลงกระจายเสียงเพื่อให้กำลังใจและปลอบขวัญในสภาวะสงครามอีกด้วย
"ก็ใช้เพลง Look for the Silver Lining ของ Jerome Kern คือให้มองไปในอนาคตก็ยังมีของดีอยู่ข้างหน้า อนาคตจึงจะดีกว่า....." ราชัน กาญจนะวณิชย์ ผู้ประกาศรุ่นแรกของวีโอเอ ภาคภาษาไทย
บันทึกในรายงานเกี่ยวกับผู้ประกาศข่าวรุ่นแรกของวีโอเอไทย เกี่ยวข้องกับภารกิจของขบวนการเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกาในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะบทบาทของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำสหรัฐ ณ กรุงวอชิงตัน ที่ประกาศไม่ยอมรับรู้การประกาศสงครามของรัฐบาลไทย และรวบรวมข้าราชการและนักเรียนไทยในสหรัฐฯ เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นทุกวิถีทางโดยให้ความร่วมมือแก่สหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด
คุณหญิง อัมพร มีศุข ซึ่งขณะนั้นศึกษาในรัฐแมสซาชูเซสต์ เป็นหนึ่งในเสรีไทยที่เข้ามาเป็นผู้ประกาศรุ่นแรกของ วีโอเอ ภาคภาษาไทย
'คือท่านทูตฯ ก็ติดต่อมา คือรัฐบาลอเมริกันบอกว่าพวกเราอยากจะช่วยงานสงคราม แล้วท่านทูตก็เป็นคนแอทไซน์ (มอบหมาย) ว่าให้ไปทำที่ไหน Office Of War Information (สำนักงานข่าวสารสงคราม) เขาต้องการคนไปเปิดที่ Thai Section (แผนกภาษาไทย) ที่ซาน ฟรานซิสโก เขาก็ติดต่อที่ท่านทูตแล้วท่านทูตก็จะจัดคนไป'
เช่นเดียวกับ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา นักเรียนไทยจากรัฐวิสคอนซิลก็ได้รับการติดต่อเช่นกัน
'หัวหน้าเสรีไทย ก็คือคุณเสนีย์ (ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช) ท่านก็ติดต่อให้ไปพบ ในฐานะที่ดิฉันจบจากอักษรศาสตร์จุฬาฯ มา ก็ขอให้ช่วยทางวิทยุกระจายเสียง ดิฉันก็เลยลาออกจากมหาวิทยาลัยทั้งๆ ที่ตั้งต้นโครงการ PHD (ปริญญาเอก) ไปบ้างแล้ว ก็ลาออกจากวิสคอนซิน กลายมาอยู่ที่ซานฟรานซิสโก จนกระทั่งสงครามเลิก
ไม่เสียดายหรอกที่ต้องเสียเวลาอยู่ตั้งนาน แม้ว่าการเรียนก็ต้องหยุดไป แต่ก็ภูมิใจที่ได้รับใช้ประเทศชาติ'
การทำงานของคนไทยที่เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยในช่วงสงครามเป็นความลับ จนกระทั่งภายหลังสงคราม ขบวนการเสรีไทยทุกสายทั้งในและนอกประเทศ ต่างมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ประเทศไทยสามารถเจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อให้ไทยไม่ต้องตกอยู่ในฐานะอย่างเดียวกับประเทศผู้แพ้สงครามอื่น
ในส่วนของผู้ประกาศข่าว 'วีโอเอ' ในช่วงหลังสงครามหลายคนแยกย้ายกันไปเรียนต่อและกลับประเทศไทย บางคนยังทำงานต่อกับสำนักงานการกระจายเสียงต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ต่อมาย้ายสำนักงานจากฝั่งตะวันตกที่ซานฟรานซิสโก ไปสมทบที่สำนักงานฝั่งตะวันออกที่นครนิวยอร์ก
รวมกันเป็นวิทยุกระจายเสียง Voice Of America ก่อนจะย้ายมาตั้งสำนักงานที่กรุงวอชิงตันในปี พุทธศักราช 2496