วัลดยา บาราปุตริ เป็นหนึ่งในสองผู้สื่อข่าวของสำนักข่าววอยซ์ ออฟ อเมริกา (วีโอเอ) ภาคภาษาอินโดนีเซีย ที่ต้องเดินทางกลับอินโดนีเซียในวันจันทร์ หลังจากที่ สำนักงานสื่อระหว่างประเทศ หรือ U.S. Agency for Global Media (USAGM) ซึ่งเป็นหน่วยงานแม่ของวีโอเอ ไม่ต่อวีซ่า J-1 ให้ผู้สื่อข่าวต่างชาติ หลังประกาศทบทวนการต่อวีซ่า “เป็นรายบุคคล” เมื่อเดือนที่แล้ว
บาราปุตริ เป็นหนึ่งในผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 15 คนที่ต้องเดินทางกลับไปประเทศในช่วงไม่กี่สัปดาห์ถัดจากนี้ และมีผู้สื่อข่าวอีก 20 คนที่วีซ่าจะหมดก่อนสิ้นปีนี้ โดยบางคนมาจากประเทศที่มีบรรยากาศคุกคาม ทั้งนี้ วีโอเอนำเสนอข่าวใน 47 ภาษา และผู้สื่อข่าวต่างชาติได้ใช้ความรู้เฉพาะของภูมิภาค แหล่งข่าว และความสามารถทางภาษาในการนำเสนอข่าวให้ทางวีโอเอ
ผู้สื่อข่าวเหล่านี้ยากที่จะมีทางเลือกอื่นนอกจากขึ้นเครื่องบินกลับบ้านในขณะที่ยังมีการระบาดของไวรัสโควิด--19 โดยบาราปุตริต้องจ่ายค่าโรงแรมสำหรับสองสัปดาห์ในช่วงกักตัวหลังลงเครื่อง ก่อนที่จะกลับบ้านของเธอในกรุงจาการ์ตาได้
‘ทบทวนการต่อวีซ่า’ นโยบายของซีอีโอใหม่ USAGM
โฆษกของ USAGM ระบุในแถลงการณ์เมื่อเดือนกรกฎาคมว่า ทาง USAGM ทบทวนการต่อวีซ่าผู้สื่อข่าว เพื่อพัฒนาการจัดการองค์กร ปกป้องความมั่นคงของสหรัฐฯ และเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ามีการจ้างงานตามวัตถุประสงค์
อย่างไรก็ตาม ทางด้านผู้สื่อข่าวที่ถือวีซ่า J-1 ของวีโอเอ กลับระบุว่า ทางองค์กรไม่สื่อสารเรื่องสถานะวีซ่าของพวกเขาอย่างชัดเจน นอกจากนี้ สมาชิกสภาคองเกรส ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสื่อ และอดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของ USAGM ยังเห็นว่า การทบทวนวีซ่าเป็นหนึ่งในเรื่องน่ากังวลหลังไมเคิล แพ็ค รับตำแหน่งซีอีโอของ USAGM ตั้งแต่เดือนมิถุนายน
อีเลียท เองเกิล ประธานคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ ว่า USAGM ไม่สามารถตอบคำถามของสภาฯต่อขั้นตอนการต่อวีซ่าได้ เขาเห็นว่าทางองค์กรพยายามยื้อเวลาเพื่อบังคับให้ผู้สื่อข่าวจำเป็นต้องเดินทางกลับประเทศ ในที่สุด
เองเกิล ซึ่งเป็นส.ส. สหรัฐฯ พรรคเดโมแครตจากรัฐนิวยอร์ก ยังเตือนด้วยว่า ผู้สื่อข่าวต่างชาติของวีโอเอตกอยู่ในความเสี่ยง โดยเฉพาะผู้ที่มาจากประเทศที่มักคุกคามสื่อ และไมเคิล แพ็คต้องเป็นผู้รับผิดชอบหากเกิดอันตรายกับผู้สื่อข่าวเหล่านี้ ทั้งนี้ แพ็คมีกำหนดให้การต่อกรณีดังกล่าวกับทางคณะกรรมาธิการในวันที่ 24 กันยายน
บาราปุตริระบุว่า เธอรู้สึกเหมือนถูกลงโทษโดยไม่มีเหตุผล โดยแผนกทรัพยากรบุคคลของ USAGM ไม่ตอบคำถามของเธอ เธอยังรู้สึกสับสนกับเหตุผลที่ต้องทบทวนการต่อวีซ่า เนื่องจากเธอได้รับการตรวจประวัติตั้งแต่ขั้นตอนการจ้างงานแล้ว
ผู้สื่อข่าวอีกคนที่วีซ่าหมดอายุแล้วและขอสงวนชื่อ ยังวิจารณ์การไม่สื่อสารของทางองค์กรและแผนกทรัพยากรบุคคลเช่นกัน โดยเขาระบุว่า การทบทวนการต่อวีซ่าของวีโอเอ “โหดร้ายเป็นพิเศษ” กับผู้สื่อข่าวต่างชาติที่อยู่ในสหรัฐฯ มาตั้งแต่แรกแล้วเป็นพิเศษ โดยผู้สื่อข่าวเหล่านี้ยกเลิกวีซ่าของตัวเองในขณะนั้นเพื่อทำวีซ่า J-1 กับทางองค์กร เขายังตั้งข้อสงสัยด้วยว่า ทางองค์กรได้ทบทวนการต่อวีซ่าผู้สื่อข่าวจริงหรือไม่
กลุ่มเสรีภาพสื่อร่วมเรียกร้องต่อ USAGM
กลุ่มเสรีภาพสื่อในสหรัฐฯ เช่น Reporters Committee for Freedom of the Press (RCFP) และ PEN America วิจารณ์นโยบายทบทวนวีซ่า J-1 ของ USAGM ด้วยเช่นกัน โดย เกบ ร็อทท์แมน ผู้อำนวยการด้านเทคโนโลยีและเสรีภาพสื่อของ RCFP ระบุว่า นโยบายของ USAGM ทำให้ผู้สื่อข่าวต้องกลับประเทศในช่วงเวลาที่โลกต้องการข่าวสารที่ถูกต้องเชื่อถือได้
บรรดาสมาชิกวุฒิสภา เช่น มาร์โค รูบิโอ และลินด์เซย์ เเกรห์ม จากพรรครีพับลิกัน และริชาร์ด เดอร์บิน จากพรรคเดโมแครต ต่างเน้นย้ำถึงบทบาทของวีโอเอและสื่ออื่นๆ ในสังกัด USAGM ในการต่อสู้กับการบิดเบือนข้อมูลและการนำเสนอข่าวสารที่เชื่อถือได้แก่ผู้ชมในประเทศอำนาจนิยม เช่น อิหร่าน รัสเซีย และจีน โดยเหล่าสมาชิกวุฒิสภาระบุในจดหมายถึงซีอีโอใหม่เมื่อเดือนที่แล้ว หลังจากเขาไล่ผู้บริหารหน่วยงานในเครือ USAGM ออก ว่า ประเทศเหล่านี้จำกัดเสรีภาพสื่อในประเทศเพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าถึงข่าวสารที่เป็นอิสระได้
แซนฟอร์ด อังการ์ อดีตผู้อำนวยการของวีโอเอในยุคอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน และจอร์จ ดับเบิลยู บุช ระบุว่า นโยบายทบทวนวีซ่าเป็นเรื่องผิดพลาดที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของวีโอเอโดยตรง ทำให้องค์กรอ่อนแอลง ตกเป็นเป้าทางการเมืองได้ง่ายขึ้น รวมทั้งถูกโจมตีจากรัฐบาลต่างประเทศได้มากขึ้น
อังการ์ยังระบุด้วยว่า นโยบายครั้งนี้นอกจากจะขัดขวางการทำงานของวีโอเอแล้ว ยังเป็นการโจมตีเสรีภาพทางข้อมูลข่าวสารในหลายประเทศที่ต้องการได้รับข่าวจากวีโอเอด้วย