เหงียน ฟู จ่อง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนาม ถึงแก่อสัญกรรมในวันศุกร์ หลังถือครองอำนาจสูงสุดมาเป็นเวลา 13 ปี สิริอายุ 80 ปี
แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ระบุว่าจ่องเสียชีวิตในช่วงบ่ายวันศุกร์ “จากความชราและอาการเจ็บป่วยรุนแรง” โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับความเจ็บป่วยดังกล่าว แต่ระบุว่าเขาเสียชีวิต “แม้จะได้รับการดูแลอย่างทุ่มเทจากพรรค รัฐ กลุ่มอาจารย์ แพทย์ และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ชั้นนำ”
แม้เวียดนามจะไม่มีตำแหน่งผู้นำสูงสุดอย่างเป็นทางการ แต่ในแง่ของอำนาจทางการเมือง จ่อง คือผู้ทรงอำนาจที่สุด และนั่งเป็นเลขาธิการพรรคมาตั้งแต่ปี 2011 และเสียชีวิตขณะครองตำแหน่งเป็นวาระที่สาม
ภายใต้การนำของจ่อง โลกได้เห็นเวียดนามในฐานะประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว มีนโยบายต่างประเทศในแนวทางปฏิบัตินิยม และเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองซึ่งเกิดจากนโยบายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น
ในปี 2017 จ่องดำเนินนโยบายปราบปรามการทุจริตอย่างรุนแรงในแบบที่จีนทำ ภายใต้ชื่อนโยบาย “เตาหลอมที่ลุกโชน” ที่นำไปสู่การสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐหลายร้อยคน และมีจำนวนมากที่ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งรวมถึงผู้บริหารระดับรัฐมนตรี ประธานสภา รวมถึงประธานาธิบดี
รัฐบาลกรุงฮานอยประกาศให้ยกเลิกกิจกรรมสาธารณะทั่วประเทศจนถึงวันที่ 25 กรกฎาคม และเว็บไซต์ที่หน่วยงานรัฐเป็นผู้ดูแลก็เปลี่ยนโทนสีเป็นสีขาว-ดำ ส่วนสื่อของรัฐก็เผยแพร่สารคดีเกี่ยวกับเลขาธิการจ่อง
ที่กรุงฮานอย บาร์หลายแห่งงดจำหน่ายเครื่องดื่มและงดเล่นดนตรีในคืนวันศุกร์ ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวเวียดนามจำนวนมากก็เปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็นภาพธงชาติเพื่อไว้อาลัย
จ่องได้รับการศึกษาที่สหภาพโซเวียต และเป็นที่รู้จักในฐานะผู้สมาทานแนวคิดแบบมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ แต่ในเวลาต่อมาก็นำเวียดนามให้เจริญสัมพันธไมตรีกับสหรัฐฯ และจีน โดยเมื่อปีที่แล้ว จ่องได้รับรองโจ ไบเดน ประธานาธิบสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งจีน ที่กรุงฮานอย
สถานทูตสหรัฐฯ ในเวียดนามออกแถลงการณ์ ระบุว่า จ่อง เป็น “ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ผู้ใช้เวลาหลายทศวรรษในการเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเวียดนามและสหรัฐอเมริกา”
พรรคคอมมิวนิสต์ของจีนก็ได้ส่งสารแสดงความอาลัยไปยังเวียดนาม โดยเรียกจ่องว่าเป็น “มาร์กซิสต์ผู้ทุ่มเท” และเป็น “สหาย พี่น้อง และเพื่อนที่ดี” ตามการรายงานของสื่อทางการ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ประธานาธิบดีโต แลม ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่แทนจ่องตั้งแต่วันพฤหัสบดี และพรรคคอมมิวนิสต์จะต้องตัดสินใจว่าจะให้ ปธน.แลมควบตำแหน่งหัวหน้าพรรคไปจนสิ้นสุดวาระของจ่องในปี 2026 หรือไม่ หรือต้องให้มีการเลือกตั้งกันใหม่
นักวิเคราะห์และนักธุรกิจมองว่า หากแลมสามารถควบรวมอำนาจแทนที่จ่องได้ ก็อาจเป็นสัญญาณที่ดีในแง่การมีอำนาจตัดสินใจที่ฉับไวให้กับประเทศที่ขณะนี้เป็นฐานการผลิตของบรรษัทชั้นนำระดับโลกหลายแห่ง รวมถึงซัมซุง อินเทล แคนอน ไปจนถึงฟอกซ์คอนน์ ที่เป็นผู้ผลิตสินค้าให้กับบริษัทแอปเปิล
ปีเตอร์ มัมฟอร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากยูเรเชีย กรุ๊ป กล่าวว่าการนำของแลม “อาจช่วยบรรเทาความไม่มั่นคงทางการเมืองและความขัดแย้งภายใน อย่างน้อยก็ในระยะสั้น” และระบุด้วยว่าหากเป็นเช่นนั้น ก็จะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม นักการทูตและนักเคลื่อนไหวหลายคนก็มีความกังวลว่า การควบรวมอำนาจไว้กับบุคคลเดียวมากขึ้น ในขณะที่ลดทอนบทบาทการตรวจสอบและตัดสินใจร่วมกันในพรรคลง อาจทำให้เวียดนามมีแนวโน้มการเมืองไปในทางอำนาจนิยมแบบจีนมากขึ้น และมีผลกับเสรีภาพของพลเรือน
- ที่มา: รอยเตอร์