Your browser doesn’t support HTML5
ขณะที่เด็กจำนวนหนึ่งในเวียดนามมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ เวียดนามยังมีเด็กน้ำหนักตัวเกินเพิ่มขึ้นทุกปี ปัญหาสองอย่างนี้ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่แตกต่างกันเเต่กลับมีความเกี่ยวโยงกันอย่างใกล้ชิด
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าปัญหาเด็กผอมกับเด็กน้ำหนักตัวเกินล้วนเป็นผลสืบเนื่องจากคุณภาพทางโภชนาการที่ต่ำ
ทุกวันนี้ มีคนเวียดนามไม่กี่คนที่ยังอดอยาก สหประชาชาติรายงานบนหน้าเวปไซท์ว่าอัตราความอดอยากในเวียดนามได้ลดลงมากกว่า 2 ใน 3 จาก 24.9 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีพุทธศักราช 2536 หรือเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วเป็น 6.9 เปอร์เซ็นต์เมื่อหกปีที่เเล้ว
อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ของความอดอยากในอดีตหลังจากประเทศผ่านพ้นช่วงสงครามเวียดนามมีผลทางจิตวิทยาแก่ชาวเวียดนามที่เติบโตในช่วงนั้น ซึ่งไม่อยากให้ลูกหลานต้องอดอยาก
ในประเทศกำลังพัฒนา การมีลูกอ้วนเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งมีเพราะเเสดงว่าพ่อแม่มีเงินทองในการเลี้ยงดูลูกๆ เเละการเปลี่ยนแปลงทางอุปนิสัยการกินนี้เกิดขึ้นในช่วงที่อาหารฟ๊าสฟู้ดอย่าง McDonald's เข้าไปเปิดกิจการในเวียดนามเเละได้รับความนิยม นอกจากนี้เครื่องดื่มประเภทโซดายังมีราคาถูกหลังจากกลุ่มธุรกิจได้ล็อบบี้สำเร็จไม่ให้รัฐบาลเวียดนามขึ้นภาษีเครื่องดื่มประเภทโซดา
นอกจากนี้ คนเวียดนามทั่วไปไม่ค่อยสนใจการออกกำลังกาย นี่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนเวียดนามมีปัญหาน้ำหนักตัวเพิ่ม องค์การยูนิเซฟประมาณว่ามีจำนวนเด็กน้ำหนักตัวเกินในเวียดนามเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมหกเท่าตัวตั้งเเต่ปีพุทธศักราช 2543
ผู้สื่อข่าววีโอเอรายงานว่า นม เป็นปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่มีผลให้เด็กเวียดนามมีปัญหาโรคอ้วนมากขึ้น หลังจากประเทศประสบภาวะขาดอาหารนานหลายปีหลังสงคราม รัฐบาลเวียดนามหันไปส่งเสริมให้คนดื่มนมเพราะเห็นว่าช่วยส่งเสริมสุขภาพโดยมีการโฆษณาทางโทรทัศน์อย่างล้นหลามเพื่อส่งเสริมให้พ่อแม่ให้ลูกดื่มนม
คุณโรเจอร์ เเมทธิเสน นักโภชนาการเเห่งองค์การยูนิเซฟในกรุงฮานอยกล่าวว่าส่วนหนึ่งของปัญหาเกิดจากคนเวียดนามมองโฆษณาว่าเป็นเเหล่งข้อมูลที่เป็นจริง โดยไม่ตระหนักว่าโฆษณาเป็นการชวนเชื่อเพราะไม่ได้แจ้งถึงข้อมูลทางลบว่าอาจมีสิ่งปะปนอื่นๆ ในน้ำนม อาทิ ฮอร์โมน ยาปฏิชีวนะ ไขมัน และน้ำตาล
อย่างไรก็ตาม การบริโภคไม่ได้เป็นสาเหตุเพียงอย่างเดียวของโรคอ้วน บรรดาผู้สังเกตุการณ์ชี้ว่าเวียดนามพัฒนาความเป็นเมืองอย่างรวดเร็ว คนเวียดนามในเมืองใหญ่ที่แออัดขาดกิจกรรมที่ต้องออกแรงกาย หน้าที่การงานเปลี่ยนไปจากที่เคยทำงานแรงงานในภาคการเกษตร พวกเขากลายมาเป็นพนักงงานขายของในร้านรวงต่างๆ และทำงานในบริษัท
ทางการเวียดนามรายงานเมื่อสามปีที่เเล้วว่าอัตราการเกิดโรคอ้วนในเมืองสูงกว่าในชนบทถึง 3 เท่าตัว อย่างไรก็ดี เวียดนามยังประสบปัญหาทุพโภชนาการอยู่ องค์การยูนิเซฟรายงานว่าเวียดนามยังมีอัตราเด็กตัวเเคระอยู่ที่ 28 เปอร์เซ็นต์โดยเฉพาะในเด็กที่อยู่ในเขตชนบท ในขณะที่ปัญหาโรคอ้วนในเด็กที่อาศัยในเมืองใหญ่กำลังเป็นปัญหาที่พบมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่านี่ทำให้รัฐบาลเวียดนามต้องออกนโยบายให้เหมาะกับปัญหาที่เเตกต่างกันในเขตเมืองกับเขตชนบท
อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ไม่จำกัดอยู่เเค่ในเวียดนามเท่านั้น ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกต่างประสบปัญหาเดียวกัน หลังจากเคยมีปัญหาขาดเเคลนอาหารในอดีต ประเทศเหล่านี้กำลังมีปริมาณอาหารมากขึ้น ทั้งเนื้อ นม อาหารฟ๊าสฟู้ดและอาหารขยะอื่นๆ