ชาวเวียดนามหลายร้อยคนร่วมเป็นสักขีพยานงานแต่งงานครั้งประวัติศาสตร์ของคนเพศเดียวกันในกรุงฮานอย

  • Marianne Brown
ชาวเวียดนามหลายร้อยคนร่วมชุมนุมในกรุงฮานอยในวันอาทิตย์ เพื่อเป็นสักขีพยานในพิธีแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ก่อนที่สภาเวียดนามจะเริ่มการอภิปรายกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการแต่งงานของคนเพศเดียวกันในเดือนหน้า

ท่ามกลางอากาศร้อนในเดือนตุลาคมในกรุงฮานอย ผู้คนราว 300 คนร่วมเป็นสักขีพยานการแต่งงานครั้งประวัติศาสตร์ของคนเพศเดียวกันสองคู่ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มผู้รักเพศเดียวกันทั่วเวียดนาม รู้จักกันในชื่อ LGBT หรือ Lesbian Gay Bisexual และ Transsexual โดยมีสื่อกลางคือหน้า Facebook ของงานซึ่งใช้ชื่อภาษาเวียดนามว่า Toi Dong Y หรือ I Do ที่มีผู้กดไลค์มากกว่า 52,000 คน

คุณ Linh หนึ่งในเจ้าสาวในพิธีแต่งงานครั้งนี้ กล่าวว่าเธอดีใจที่ได้แต่งงานกับผู้หญิงที่เธอรัก เธอกล่าวขอบคุณผู้มาร่วมงานทุกคน หนึ่งในนั้นคือคุณ Truong Duc Anh ผู้ที่เชื่อว่าความรักนั้นไม่มีด้านถูกหรือด้านผิด ผู้ร่วมงานวัย 18 ปีผู้นี้บอกว่าสิ่งสำคัญคือการที่สังคมควรปฏิบัติต่อคนรักเพศเดียวกันอย่างเท่าเทียมทั้งในด้านของความรัก การแต่งงาน และกฎหมายต่างๆ

ในวันที่ 5 พ.ย สภาแห่งชาติของเวียดนามจะเริ่มการอภิปรายเกี่ยวกับกฎหมายการแต่งงานและครอบครัวฉบับใหม่ ซึ่งแม้จะไม่ได้รวมถึงการรับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกันให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่จะรวมถึงการยกเลิกข้อกำหนดห้ามคนเพศเดียวกันแต่งงานกัน และบทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้ชีวิตร่วมกันของคนกลุ่มนี้

คุณ Le Quang Binh ผอ.สถาบันศึกษาด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมหรือ iSEE หนึ่งในผู้จัดงานครั้งนี้ เชื่อว่าในที่สุดแล้วการแต่งงานของคนเพศเดียวกันในเวียดนามจะได้รับการยอมรับอย่างถูกต้องตามกฎหมายและว่าเมื่อประชาชนออกมาแสดงพลังสนับสนุนความคิดของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน นักศึกษา หรือคนหนุ่มคนสาว บรรดานักการเมืองในสภาจะต้องรับฟังและนำไปพินิจพิจารณาในที่สุด

คุณ Le Quang Binh เชื่อว่าการรับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกันให้ถูกต้องตามกฎหมาย จะช่วยให้เวียดนามมีมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่ทัดเทียมนานาประเทศ หลังจากช่วงไม่กี่ปีมานี้ รัฐบาลเวียดนามถูกโจมตีว่าพยายามปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนในหลายๆด้าน และยังเชื่อด้วยว่าปัจจุบันความคิดของชาวเวียดนามที่มีต่อคนรักเพศเดียวกันนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปมาก เมื่อก่อนคนทั่วไปมักไม่ต้องการพูดถึงเรื่องนี้เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องอ่อนไหว แต่เวลานี้คนกลุ่มดังกล่าวมิได้แปลกแยกจากสังคมเวียดนามอีกต่อไป
ผอ.สถาบัน iSEE ในเวียดนามบอกว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีทั้งคนสนับสนุนและต่อต้าน แต่อย่างน้อยสังคมก็ได้มีการพูดคุยถกเถียงในเรื่องนี้ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การยอมรับของสังคมได้ในที่สุด และตนเชื่อว่าพิธีแต่งงานในเช้าวันอาทิตย์ที่ 27 ต.ค ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญจุดเล็กๆที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้อย่างแน่นอน

รายงานจาก Marianne Brown / เรียบเรียงโดย ทรงพจน์ สุภาผล