Your browser doesn’t support HTML5
ตลาดเบียร์ในเวียดนามกำลังรุ่งเป็นอย่างมาก โดยเบียร์จากต่างประเทศตั้งเเต่ไฮเนเก้นถึงซัปโปโร ต่างพึ่งพาคอดื่มในเวียดนามเพื่อส่งเสริมยอดขายทั่วโลกให้พุ่งสูงขึ้น
ความคลั่งไคล้ในการดื่มเบียร์นี้ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขเวียดนามได้เสนอร่างกฏหมายควบคุมการโฆษณาเบียร์ ซึ่งทางกระทรวงเกรงว่ากำลังจะกลายเป็นปัญหาสุขภาพในอนาคตอันใกล้ได้
กฏระเบียบเหล่านี้จะห้ามการโฆษณาเบียร์ในพื้นที่โล่งเเจ้ง อาทิ ป้ายโฆษณาบิลบอร์ด ในภาพยนตร์เเละการเเสดงสำหรับเด็ก เเละทางสื่อสังคมออนไลน์
ก่อนหน้านี้ เวียดนามได้สั่งห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทที่ได้จากการหมักไปแล้ว ซึ่งมีปริมาณแอลกอฮอล์สูงกว่า
ทรัน ฮี ทรัง (Tran Thi Trang) รองผู้อำนวยการฝ่ายกฏหมายแห่งกระทรวงสาธารณสุขเวียดนาม กล่าวว่า ในประเทศอื่นๆ ที่ห้ามการโฆษณาทั้งเบียร์และสุราที่ได้จากการกลั่นทั้งหมด การบริโภคโดยรวมน้อยกว่าประเทศที่ห้ามโฆษณาสุราเพียงอย่างเดียวถึงร้อยละ 11
เธอกล่าวในรายงานข่าวของหน้าเว็บไซท์ของรัฐบาลว่า ทุกปีบริษัทผลิแอลกอฮอล์ใช้เงินหลายล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ในการโฆษณาเเละการตลาดเพื่อกระตุ้นการบริโภค และถือว่าเหมาะสมเเล้วที่ทางกระทรวงสาธารณสุขเวียดนามจะออกมาเสนอร่างกฏหมายควบคุมแอลกอฮอล์นี้เพราะชาวเวียดนามกำลังหลงไหลกับการดื่มเบียร์
กิจกรรมสันทนาการที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์มีมานานเเล้ว ย้อนไปตั้งเเต่สมัยที่ชาวนาต้องหมักไวน์ข้าวไว้ดื่มเอง ไปจนถึงทหารอเมริกันที่ชอบดื่มเบียร์ท้องถิ่นของเวียดนามในช่วงสงครามเวียดนาม
แต่ในปัจจุบัน สถานการณ์แตกต่างไปจากเดิม ในขณะที่ประชาชนเวียดนามในยามสงบมีความมั่งคั่งมากขึ้น เเละมีเวลาไปนั่งสังสรรค์ดื่มเบียร์ในตอนดึกดื่น เพราะราคาเบียร์ต่อขวดมักถูกกว่าราคาน้ำดื่มหนึ่งขวด
บรรดาผู้ออกนโยบายต่างกังวลว่า วัฒนธรรมนิยมดื่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับอัตราการเกิดโรคตับเเข็ง การติดสุรา เเละปัญหาเมาเเล้วขับ
องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ประเทศคอมมิวนิสต์เเห่งนี้มีอุบัติการณ์ของโรคตับอักเสบสูงอยู่เเล้ว ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็งตับ
เหงียน วาน เวียต ประธานสมาคมเบียร์ แอลกอฮอล์เเละเครื่องดื่มแห่งเวียดนาม (Vietnam Beer, Alcohol, and Beverage Association) กล่าวในรายงานข่าวที่ตีพิมพ์โดยรัฐบาลว่า การผลิตเบียร์และแอลกอฮอล์มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจเเละสังคม โดยเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญแก่งบประมาณรัฐบาลหรือราวเกือบ 2,200 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ
WHO ได้ประมาณว่า การดื่มแอลกอฮอล์ การลดประสิทธิภาพในการทำงานของเเรงงาน ตลอดจนการรักษาพยาบาล จะสร้างรายจ่ายแก่ประเทศระหว่าง 1.3 ถึง 12 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของชาติ
เจ้าหน้าที่ทางการพยายามต้านทานผลเสียที่เป็นตัวเงินนี้ โดยอ้างถึงผลดีต่อเศรษฐกิจ การลงทุนเเละการค้า เบียร์เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้มหาศาลเเละบรรดานักล็อบบี้ยังกล่าวอ้างด้วยว่า การควบคุมเบียร์มากกว่านี้จะกระทบต่อการท่องเที่ยว
เเต่ Trang แห่งฝ่ายกฏหมายกระทรวงสาธารณสุขเวียดนามไม่เห็นด้วย เธอบอกว่าหากนักท่องเที่ยวเดินทางมาเวียดนามเพราะประเทศบ้านเกิดของพวกเขาควบคุมแอลกอฮอล์ เเละเวียดนามไม่ควบคุม ก็จำเป็นต้องทบทวนนโยบายเหล่านี้ เพราะถือว่าละเมิดต่อข้อปฏิบัติระหว่างประเทศ
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)