ประชาคมโลกต่างออกมาวิจารณ์ประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร แห่งเวเนซุเอลา ในวันอังคาร หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้งของเวเนซุเอลาประกาศว่าเขาคือผู้ชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดี แม้ว่าทางพรรคฝ่ายค้านอ้างว่าเป็นผู้ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย
มาเรีย คอรินา มาชาโด ผู้นำฝ่ายค้านเวเนซุเอลา ร่วมเดินขบวนในกรุงการากัสในวันอังคาร เรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ ซึ่งภักดีต่อพรรครัฐบาล เปิดเผยผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการจากทุกเขตให้สาธารณชนรับทราบ พร้อมตั้งคำถามว่า "ทำไมจึงไม่มีการเปิดเผยตัวเลขเหล่านั้น?"
มาชาโด ยืนยันว่า พันธมิตรพรรคฝ่ายค้านได้คะแนนเสียงมากกว่า 84% จากการนับคะแนนทั้งหมด และเธอมั่นใจว่าผู้สมัครจากฝ่ายค้าน คือ เอ็ดมุนโด กอนซาเลซ คือผู้ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์และสมควรเป็นประธานาธิบดีคนใหม่
"สิ่งเดียวที่เราต้องการเจรจาต่อรองในตอนนี้ คือการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ" มาชาโดกล่าว
องค์กรแห่งรัฐอเมริกา (Organization of American States) มีแถลงการณ์วิจารณ์มาดูโรที่ยังพยายามยึดครองอำนาจเอาไว้ และตำหนิคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ไม่เปิดเผยผลนับคะแนนของแต่ละเขต พร้อมทั้งเรียกประชุมฉุกเฉินในหมู่ประเทศสมาชิกเพื่อหารือผลการเลือกตั้งในเวเนซุเอลา และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใต้การสังเกตการณ์ของนานาชาติ
ประชาชนเวเนซุเอลาหลายพันคนทั่วประเทศลงถนนประท้วงผลการเลือกตั้งเมื่อวันจันทร์ ขณะที่กอนซาเลซ ผู้สมัครจากพรรคฝ่ายค้านที่ร่วมเดินขบวนด้วย กล่าวว่า มีหลักฐานการนับคะแนนที่แสดงให้เห็นว่าตนคือผู้ชนะ
มาชาโด กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ผลนับคะแนนจากคูหาเลือกตั้งชี้ว่า มาดูโรได้คะแนนเสียงไป 2.7 ล้านเสียง ขณะที่กอนซาเลซได้ไป 6.2 ล้านเสียง แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งระบุว่า มาดูโรได้ 5.1 ล้านเสียง และกอนซาเลซได้ไป 4.4 ล้านเสียง
Your browser doesn’t support HTML5
การประท้วงที่เริ่มต้นอย่างสงบปะทุไปเป็นความรุนแรง เมื่อตำรวจหลายสิบคนเข้าสกัดกลุ่มผู้เดินขบวนและเกิดการปะทะกัน ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม ขณะที่ผู้ประท้วงพากันขว้างปาก้อนหินและวัตถุต่าง ๆ ใส่เจ้าหน้าที่เป็นการตอบโต้
ทางการเวเนซุเอลาเปิดเผยว่า สามารถจับกุมผู้ประท้วงได้มากกว่า 700 คน และมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตหนึ่งคน ได้รับบาดเจ็บ 48 คน โดยจะมีการตั้งข้อหาก่อการร้ายต่อผู้ที่ถูกจับกุมบางคนด้วย
ขณะเดียวกัน ประชาชนจำนวนมากเริ่มต่อแถวยาวหน้าร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ในกรุงการากัส เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดการประท้วงต่อเนื่องยาวนานจนนำไปสู่ปัญหาขาดแคลนอาหารดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
ทั้งนี้ เวเนซุเอลา คือหนึ่งในประเทศที่มีแหล่งน้ำมันดิบขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเคยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้ามากที่สุดในอเมริกาใต้ แต่หลังจากประธานาธิบดีมาดูโรเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2013 เศรษฐกิจเวเนซุเอลาดำดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง เกิดปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำ อาหารขาดแคลน และอัตราเงินเฟ้อในระดับสูงเกิน 130,000% นำไปสู่ความวุ่นวายทางสังคม
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ประเมินว่า มีชาวเวเนซุเอลามากกว่า 7.7 ล้านคนที่อพยพออกจากประเทศตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งถือเป็นการอพยพครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของละตินอเมริกา
- ที่มา: เอพี