ประเทศร่ำรวยเริ่มฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้กับพลเมืองแต่ความหวังของประเทศกำลังพัฒนายังอยู่อีกไกล

Colleen Teevan, System Pharmacy Clinical Manager at Hartford HealthCare, administers the Pfizer-BioNTech vaccine for COVID-19 to healthcare worker Connor Paleski outside of Hartford Hospital, Monday, Dec. 14, 2020, in Hartford, Conn. (AP Photo/Jessica Hil

Your browser doesn’t support HTML5

Vaccine Hope Backlash

ขณะที่ประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ และแคนาดาเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ให้กับพลเมืองของตน ประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนยังคงห่างไกลจากความหวังที่จะได้วัคซีน อีกทั้งแผนงาน COVAX ขององค์การอนามัยโลกก็ยังขาดแคลนเงินทุนสนับสนุนอย่างเพียงพอด้วย ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเตือนว่าช่องว่างเรื่องนี้จะทำให้การควบคุมโรคระบาดใหญ่ในระดับโลกทำได้ยากขึ้น ทั้งยังเป็นโอกาสให้เกิดการระบาดซ้ำจากประเทศที่ไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนด้วย

เชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วอย่างน้อย 1 ล้าน 6 แสนคนนี้ไม่เพียงแต่จะสร้างปัญหาเศรษฐกิจขนานใหญ่ทั่วโลกและสะท้อนถึงความเปราะบางของระบบสาธารณสุขแม้กระทั่งในประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น แต่ยังเป็นหลักฐานแสดงถึงความไม่ทัดเทียมและช่องว่างทั้งในเรื่องความหวัง โอกาส และความอยู่รอดของผู้คนในประเทศที่ร่ำรวยกับในประเทศที่ยากจนด้วย เพราะขณะที่ประเทศซึ่งก้าวหน้า เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ กับแคนาดาเริ่มแจกจ่ายและฉีดวัคซีนให้กับประชาชนของตน ผู้คนในประเทศกำลังพัฒนาคงต้องรออีกนานหากโอกาสที่ว่านี้จะเกิดขึ้นจริง

นายอาร์นอต เบอร์เนิต ผู้อำนวยการฝ่ายสุขภาพระดับโลกของ World Economic Forum ชี้ให้เห็นว่าในบรรดาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 1 หมื่น 2 พันล้านโดสที่คาดว่าบริษัทเภสัชกรรมทั่วโลกจะผลิตได้ในปีหน้านั้น กลุ่มประเทศที่ร่ำรวยได้สำรองซื้อไปแล้วราว 9 พันล้านโดสด้วยกัน ขณะที่ COVAX ซึ่งเป็นแผนงานความช่วยเหลือระหว่างประเทศเพื่อการเข้าถึงวัคซีนสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่องค์การอนามัยโลกจัดตั้งขึ้นโดยได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรนอกภาครัฐอื่นๆ ก็ยังไม่ได้รับความสนับสนุนด้านการเงินอย่างเพียงพอเพราะยังขาดเงินบริจาคอยู่ถึง 5 พันล้านดอลลาร์และสามารถสำรองวัคซีนสำหรับประเทศที่ยากจนได้เพียงแค่ 10% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 2 พันล้านโดสสำหรับปีหน้าเท่านั้นเอง

เหตุผลหนึ่งของเรื่องนี้ก็คือขณะที่วัคซีนซึ่งผ่านการทดลองและสามารถผลิตได้เพื่อสนองความต้องการยังมีจำกัด กลุ่มประเทศที่ร่ำรวยซึ่งส่วนใหญ่แล้วใช้เงินภาษีเร่งสนับสนุนการวิจัยถูกกดดันให้ต้องจัดหาวัคซีนให้กับพลเมืองในประเทศของตนก่อน และขณะที่คำตอบเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนในระยะยาวยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด บางประเทศได้ตัดสินใจสั่งซื้อวัคซีนหลายชนิดเพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนของตนจะมีโอกาสได้วัคซีนที่ใช้ได้ผล

อย่างเช่นแคนาดาที่มีประชากรราว 38 ล้านคนได้สั่งซื้อวัคซีนชนิดต่างๆ ไปใช้รวมแล้วเกือบ 200 ล้านโดส ขณะเดียวกันปัจจัยเรื่องการอนุมัติวัคซีนและปัญหาท้าทายเกี่ยวกับโครงสร้างและระบบเพื่อการแจกจ่ายวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนาก็จะเป็นเหตุผลสำคัญทำให้กลุ่มประเทศที่ยากจนเหล่านี้ต้องใช้เวลานานขึ้นเพื่อรอวัคซีนในระดับแนวหน้าด้วย

เพราะขณะนี้นอกจากวัคซีนของบริษัท Pfizer-BioNTech กับของบริษัท Moderna ที่คาดว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ จะให้การอนุมัติในไม่ช้าแล้ว ยังไม่มีวัคซีนอื่นใดที่ผ่านการอนุมัติขององค์กรด้านสุขภาพชั้นนำในประเทศใดทั้งสิ้น และขณะที่สำหรับในประเทศที่พัฒนาแล้วการแจกจ่ายวัคซีนให้ถึงประชากรส่วนใหญ่อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อยหกถึงแปดเดือนแต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนา ปัจจัยและอุปสรรคเกี่ยวกับระบบโครงสร้างพื้นฐานก็จะยิ่งทำให้เวลาของการรอยิ่งเนิ่นนานมากขึ้นอีก

การที่ประเทศพัฒนาแล้วมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ที่มีประสิทธิผลมากกว่าทำให้ประเทศรายได้ระดับปานกลางบางประเทศอย่างเช่นอินเดีย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตวัคซีนให้กับประเทศตะวันตกโดยหน่วยงานอย่างเช่น Serum Institute of India ตั้งเป้าว่าจะผลิตวัคซีนอย่างน้อย 300 ล้านโดสสำหรับตลาดในประเทศของตนแต่ก็คาดว่าอินเดียคงไม่สามารถทำได้ตามที่ต้องการ

อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้น้อยนั้นความหวังเรื่องการพึ่งพาโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลกซึ่งอาจจะหวังไม่ได้มากในขณะนี้ทำให้มีความจำเป็นต้องมองหาทางเลือกอื่น อย่างเช่นพาเลา ประเทศเล็กๆ ที่เป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิคได้ถอนตัวออกจากโครงการ COVAX และพยายามขอรับบริจาควัคซีนจากสหรัฐฯ นอกจากนั้นประเทศอื่นๆ เช่นมาเลเซีย เปรู และบังคลาเทศก็กำลังมองหาแผนสำรองด้วยการร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตยารายอื่นเช่นกัน

ขณะนี้แอฟริกาใต้กับอินเดียได้ขอให้องค์การการค้าโลกยกเว้นกฎเกณฑ์บางอย่างเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเปิดทางให้ผู้ผลิตในประเทศกำลังพัฒนาสามารถผลิตวัคซีนและยารักษาโควิด-19 ได้เองแต่ประเทศที่ร่ำรวยหลายประเทศไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ และจากปัญหาอุปสรรคต่างๆ ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสที่ไม่ทัดเทียมกันที่ว่านี้

คุณแอนนา แมริออตส์ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสุขภาพของ OXFAM ได้เตือนว่าช่องว่างที่ว่านี้จะยิ่งทำให้การระบาดใหญ่ดังกล่าวยืดเยื้อออกไปนานขึ้น และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขคนอื่นก็เตือนเช่นกันว่าการขาดโอกาสเข้าถึงวัคซีนอย่างเพียงพอโดยผู้คนในประเทศกำลังพัฒนาจะเป็นผลให้มีเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้หลงเหลืออยู่ในหลายจุดของโลกและรอเวลาที่จะกลับมาระบาดใหม่ได้อีกทุกเวลา