นักเคลื่อนไหวโวย ผู้บริหารบริษัทยาขึ้นแท่นมหาเศรษฐีจากวัคซีนโควิด-19

FILE PHOTO: Vials with Pfizer-BioNTech and Moderna coronavirus disease (COVID-19) vaccine

นักเคลื่อนไหว ออกมากล่าวหาว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้นักลงทุนและผู้บริหารบริษัทยาและเวชภัณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตวัคซีนโควิด กลายเป็นมหาเศรษฐีคนใหม่ไปแล้วอย่างน้อย 9 คนเมื่อปีก่อน

กลุ่มนักเคลื่อนไหว People’s Vaccine Alliance ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอิสระ Global Justice Now องค์กร Oxfam และ UNAIDS ออกรายงานฉบับล่าสุด เพื่อเรียกร้องให้บริษัทยาและเวชภัณฑ์แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน ในระหว่างที่ประเทศยากจนต้องรับมือกับการระบาดรุนแรงในขณะนี้

ในรายงานระบุว่า ช่วงการระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้มีเศรษฐีคนใหม่อย่างน้อย 9 คน มีรายได้รวมกันราว 19,300 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 1.3 เท่าของมูลค่าวัคซีนที่จะแจกจ่ายประเทศยากจนทั่วโลก

ขณะที่มหาเศรษฐี 8 คน จาก 9 คนในนี้ ล้วนมีหุ้นในบริษัทยาและเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตวัคซีนโควิดทั้งสิ้น และพวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 32,200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นมูลค่าที่มากพอสำหรับการจัดซื้อวัคซีนให้กับประชาชนกว่า 1,300 ล้านคนในอินเดียได้ทั้งหมด

แมกซ์ ลอว์สัน หัวหน้าฝ่ายความไม่เสมอภาคขององค์กร Oxfam International เปิดเผยกับวีโอเอว่า บริษัทยาที่อยู่เบื้องหลังการผลิตวัคซีนโควิดมากมาย ทั้งไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ได้รับประโยชน์มหาศาลจากครอบครองตลาดด้านวัคซีนในตอนนี้ และทำให้ผู้ลงทุนและผู้บริหารกลายเป็นมหาเศรษฐีคนใหม่มากมาย

ก่อนหน้านี้ ตามข้อมูลการวิเคราะห์ประจำปีจากนิตยสารฟอร์บส (Forbes) ที่เผยแพร่ในเดือนเมษายน ระบุว่า People’s Vaccine Alliance อ้างว่าในช่วงที่ผ่านมา มหาเศรษฐีจากวัคซีนรายใหม่ โดยมีทั้งนักลงทุนและผู้บริหารรวม 4 รายที่เกี่ยวข้องกับบริษัทโมเดอร์นาและบริษัทไบโอเอ็นเทค ซึ่งเป็นผู้พัฒนาวัคซีนโควิด-19 และมีผู้บริหาร 3 รายจากบริษัทคานซิโน ไบโอโลจิกส์ขึ้นแท่นมหาเศรษฐีคนใหม่เช่นกัน

ลอว์สัน เพิ่มเติมว่า ความเสี่ยงทางการเงินในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ตกอยู่กับผู้เสียภาษีทุกคน เทคโนโลยีวัคซีนเหล่านี้จึงไม่ควรถือเป็นทรัพย์สินของบริษัทยา และไม่ควรเป็นเครื่องมือกอบโกยกำไรมหาศาลให้บริษัทเหล่านี้ และว่าสิทธิบัตรยาในการพัฒนาวัคซีน ถือเป็นสิ่งที่ช่วยให้บริษัทยามีอำนาจในการกำหนดราคาและการแจกจ่ายวัคซีนได้ และบริษัทเหล่านี้ได้สร้างภาวะขาดแคลนวัคซีนเทียมเพื่อสร้างผลกำไรมหาศาลให้บริษัทเหล่านี้อีกทอดหนึ่ง

ทางบริษัทไบโอเอ็นเทค ออกแถลงการณ์ยอมรับว่า อูเกอร์ ซาฮิน (Ugur Sahin) ซีอีโอของบริษัทไบโอเอ็นเทค อยู่ในรายชื่อมหาเศรษฐีคนใหม่ ในรายงานของ People’s Vaccine Alliance แต่ยืนยันว่าผู้บริหารรายนี้ไม่ได้ขายหุ้นของบริษัทในช่วงที่ผ่านมาแต่อย่างใด

ขณะที่บริษัทโมเดอร์นา ไม่ได้ให้ความเห็นต่อรายงานของ People’s Vaccine Alliance ที่ออกมา

ประเทศยากจนทั่วโลกกำลังรับมือกับการขาดแคลนวัคซีนโควิด-19 ซึ่งทางสหภาพยุโรป ประกาศบริจาควัคซีนให้ประเทศยากจน 100 ล้านโดสในปีนี้ และจัดตั้งศูนย์ผลิตวัคซีนในแอฟริกา ขณะที่ทางสหรัฐฯ ประกาศให้ความช่วยเหลือ ทั้งการบริจาควัคซีน 80 ล้านโดสรอบใหม่ และสนับสนุนการระงับกฎสิทธิบัตรยาในการผลิตวัคซีนโควิด

ประเด็นดังกล่าวได้รับการกล่าวถึงในเวที Global Health Summit ในการประชุมจี20 ในวันศุกร์นี้ โดยที่ประชุมมีคำประกาศร่วมกันเรื่องการยกเว้นใบอนุญาตและข้อตกลงด้านการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี แต่ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องสิทธิบัตรยาแต่อย่างใด

และล่าสุดในวันศุกร์ บริษัทยารายใหญ่อย่างไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค ใช้เวที Global Health Summit ประกาศบริจาควัคซีน 2 พันล้านโดส ให้กับประเทศยากจนและรายได้ปานกลาง เพื่อปิดช่องว่างการเข้าถึงวัคซีนโควิดในกลุ่มประเทศเหล่านี้ พร้อมจัดส่งได้ในปีนี้และช่วงไตรมาสสองของปีหน้า ขณะที่โมเดอร์นา และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เตรียมบริจาควัคซีนให้ 200,000 โดส และ 100,000 โดส ตามลำดับ