สหรัฐฯ กล่าวว่ากำลังทำงานร่วมกับพันธมิตรเรื่องมาตรการต่อจากนี้หลังจากที่อิหร่านโจมตีอิสราเอลด้วยโดรนและขีปนาวุธในช่วงสุดสัปดาห์
ในเวลาเดียวกันรัฐบาลกรุงวอชิงตันเรียกร้องให้อิสราเอลใช้ความยับยั้งชั่งใจและไม่ทำให้ความจัดเเย้งบานปลาย
ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงเเห่งชาติสหรัฐฯ เจค ซัลลิเเวน กล่าวในเเถลงการณ์ว่าประธานาธิบดีไบเดน "กำลังประสานกับพันธมิตรเเละหุ้นส่วน รวมถึงกลุ่ม จี 7 และกับผู้นำพรรคการเมืองทั้งสองฝั่งในสภาสหรัฐฯ ในเรื่องปฏิกิริยาต่อไปจากนี้ที่มีความครอบคลุมกว้างขวาง"
ซัลลิเเวนกล่าวว่าสหรัฐฯ จะมีมาตรการลงโทษใหม่ต่ออิหร่านอีกไม่กี่วันต่อจากนี้ โดยจะพุ่งเป้าที่โครงการโดรนและจรวดของอิหร่าน และต่อส่วนต่าง ๆ ของหน่วยงานทหารของเตหะราน ซึ่งรวมถึงกลุ่ม Islamic Revolutionary Guard Corps
เขาเสริมว่าสหรัฐฯ จะยกระดับการประสานระบบแจ้งเตือนการโจมตีทางอากาศทั่วตะวันออกกลาง
Your browser doesn’t support HTML5
เจ้าหน้าที่ในคณะทำงานของไบเดนได้เคยเรียกร้องบ่อยครั้งให้มีการลดระดับความตึงเครียด โดยโฆษกด้านความมั่นคงเเห่งชาติสหรัฐฯ จอห์น เคอร์บีกล่าวกับนักข่าวเมื่อวันอังคารว่า ไบเดน "ไม่ต้องการให้เกิดสงครามกับอิหร่าน ไม่ต้องการเห็นความขัดเเย้งกว้างขึ้นหรือบาดลึกลงกว่านี้"
นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ได้เคยลั่นวาจาว่าจะตอบโต้อิหร่าน แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลของเขายังไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดใดๆ
ผู้บัญชาการทหาร พลโท เฮอร์ซี ฮาเลวี กล่าวว่า "เราจะเลือกวิธีตอบโต้ตามที่ควรจะเป็น"
หากเกิดการโจมตีโดยอิสราเอลไปยังแผ่นดินอิหร่าน สถานการณ์จะยิ่งทวีความรุนเเรง และรัฐบาลเตหะรานได้บอกไว้เเล้วว่า หากโดนโจมตีกลับ จะตอบโต้ให้หนักยิ่งขึ้นไปอีก
เมื่อวันเสาร์อิหร่านส่งโดรนเเละขีปนาวุธรวมกว่า 300 ลำสู่อิสราเอล เเต่เกือบทั้งหมดถูกสกัดได้โดยอิสราเอลและพันธมิตร
ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีเพียงเล็กน้อยต่อฐานทัพอิสราเอล ซึ่งอาจถูกตีความได้ว่าอิหร่านไม่ต้องการให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก หรืออาจได้เเจ้งล่วงหน้าเรื่องการโจมตี อย่างไรก็ตามสหรัฐฯ ปฏิเสธสมมติฐานดังกล่าว
ทั้งนี้ปฏิบัติการของอิหร่านมีขึ้นหลังจากที่อิหร่านเชื่อว่าสถานกงสุลของตนถูกโจมตีโดยอิสราเอลเมื่อวันที่ 1 เมษายน ในซีเรีย แต่รัฐบาลเทลอาวีฟไม่ได้เเสดงท่าทียอมรับว่าอยู่เบื้องหลัง
โจนาธาน ไรน์โฮลด์ หัวหน้าภาควิชาการเมืองศึกษาที่มหาวิทยาลัย บาร์-อิลาน ในอิสราเอล กล่าวว่าหากอิสราเอลตอบโต้กลับ น่าจะมีเป้าหมายไปที่แผ่นดินอิหร่าน แต่ไม่มีจุดประสงค์ที่จะสังหารพลเรือน
อิสราเอล "ไม่น่าที่จะต้องการโจมตีอย่างเปิดเผยไปยังอาคารที่เป็นสัญลักษณ์ในที่สาธารณะที่โจ่งเเจ้งมาก ๆ ของอิหร่าน" ไรน์โฮลด์ กล่าวต่อวีโอเอ
หากทำเช่นนั้น อาจจะทำให้อิหร่านขายหน้า และจำเป็นต้องยกระดับความขัดเเย้ง ไรน์โฮลด์กล่าว แต่เขาเตือนเช่นกันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่การอ่านเกมผิดพลาดที่อันตราย
เกรกอรี แฮตเชอร์แห่งบริษัทที่ปรึกษาด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ White Knight Labs บอกกับวีโอเอว่า อิสราเอลอาจจะเลือกดำเนินปฏิบัติการอย่างลับ ๆ และเจาะไปที่เจ้าหน้าที่อิหร่าน หรืออาจเป็นโจมตีทางไซเบอร์
"ถ้าผมเป็นอิสราเอล ผลจะเลือกเดินเกมสงครามไซเบอร์ อย่างที่ใช้มาหลายครั้งในช่วง 15 ที่ผ่านมา" แฮตเชอร์กล่าว
ทั้งนี้สหรัฐฯ และอิสราเอลร่วมกันพัฒนาโปรเเกรมโจมตีทางไซเบอร์ที่ชื่อว่า สตุสเน็ต (Stuxnet) และเคยใช้มัลเเวร์นี้เป็นเครื่องมือบั่นทอนสถานที่ที่อิหร่านใช้สำหรับโครงการนิวเคลียร์มาเเล้ว
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าววีโอเอรายงานว่า ไม่ว่าเนทันยาฮูจะตัดสินใจออกมาในทางใด ไบเดนได้บอกกับเนทันยาฮูว่า หากอิสราเอลโจมตีกลับอิหร่าน สหรัฐฯ จะไม่ร่วมจู่โจมด้วย
- ที่มา:วีโอเอ