สหรัฐฯ ตัดสินใจออกคำเตือนให้ประชาชนชาวอเมริกันหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังญี่ปุ่น เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงเพิ่มขึ้น ขณะที่เหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 เดือนก่อนการเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกกรุงโตเกียว
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกคำเตือนด้านการเดินทางระดับที่ 4 ซึ่งเป็นขั้นสูงสุด สำหรับประเทศญี่ปุ่น โดยอ้างเหตุผลว่า อัตราการฉีดวัคซีนของประเทศนั้นชะลอตัวลง และการที่รัฐบาลกรุงโตเกียวดำเนินมาตรการจำกัดการเดินทางมาจากสหรัฐฯ ด้วย
ขณะเดียวกัน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ออกคำเตือนว่า “แม้สำหรับนักเดินทางที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว กลุ่มคนเหล่านี้ยังคงมีความเสี่ยงที่จะติดและแพร่เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ของโควิด-19 ได้ และควรหลีกเลี่ยงที่จะเดินทางไปยังญี่ปุ่น”
ทั้งนี้ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในกรุงโตเกียวมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคมและ 8 สิงหาคม หลังจากต้องเลื่อนออกมา 1 ปี เพราะการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ แต่ในเวลานี้ กรุงโตเกียวและหลายส่วนของญี่ปุ่นยังคงอยู่ภายใต้คำสั่งภาวะสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อจัดการกับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นจนโรงพยาบาลทั่วประเทศใกล้จะไม่สามารถรับได้ และทำให้ประชาชนเริ่มมีแสดงอาการไม่เห็นด้วยกับการจัดการแข่งขันนี้แล้ว
กระแสต่อต้านการจัดโอลิมปิกในกรุงโตเกียวเริ่มรุนแรงขึ้นตั้งแต่เมื่อต้นเดือน หลังสมาคมแพทย์กรุงโตเกียว (Tokyo Medical Practitioners Association) ซึ่งมีแพทย์ระดับปฐมภูมิและโรงพยาบาลต่างๆ รวมกันแล้วราว 6,000 ราย/แห่ง เป็นสมาชิกอยู่ ส่งจดหมายเปิดผนึกไปยังนายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูกะ เพื่อขอให้ไปเจรจากับคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ให้พิจารณายกเลิกงานปีนี้
การระบาดใหญ่ในปัจจุบันทำให้ทางการญี่ปุ่นสั่งห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาร่วมชมการแข่งขันโอลิมปิกแล้ว แต่ คัทสึโนบุ คาโต หัวหน้าคณะเลขานุการคณะรัฐมนตรีบอกกับผู้สื่อข่าวในวันอังคารตามเวลาท้องถิ่นว่า รัฐบาลไม่ได้ห้ามผู้ที่มีความจำเป็นไม่ให้เดินทางเข้าประเทศ และทางการญี่ปุ่นยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในการสนับสนุนของรัฐบาลกรุงวอชิงตันให้ญี่ปุ่นจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
ข้อมูลจากมหาวิทยาลัย จอนส์ ฮอพกินส์ ระบุว่า ญี่ปุ่นมีผู้ป่วยโควิดสะสมแล้วกว่า 726,000 คน และมีผู้เสียชีวิตสะสมแล้วราว 12,400 คน แต่อัตราการฉีดวัคซีนนั้นอยู่ที่ไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรของประเทศ
ปัญหาการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ในฮ่องกง
ขณะเดียวกัน โทมัส จาง อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของศูนย์ป้องกันสุขภาพของฮ่องกง และสมาชิกทีมงานเฉพาะกิจด้านวัคซีนของรัฐบาลฮ่องกง เตือนว่า อาจจะต้องมีการทิ้งวัคซีนโควิด-19 นับล้านโดส เพราะมีคนมารับยาไม่มากพอก่อนวันหมดอายุของวัคซีน
จาง ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ RTHK ของฮ่องกงในวันอังคารว่า มีเวลาเหลือเพียงราว 3 เดือนที่จะต้องใช้วัคซีนของไฟเซอร์ (Pfizer) ที่ได้รับมาชุดแรกให้หมด ขณะที่สถานการณ์เริ่มยุ่งยากขึ้น เพราะทางการมีแผนจะปิดศูนย์ฉีดวัคซีนชุมชนหลายแห่งหลังเดือนกันยายนนี้
รายงานข่าวระบุว่า ฮ่องกงซื้อวัคซีนจากทั้งไฟเซอร์และจากซิโนแวค (Sinovac) เพื่อให้ครอบคลุมประชากรราว 7.5 ล้านคน แต่จวบจนถึงเวลานี้ มีการแจกจ่ายไปเพียง 2.1 ล้านโดสเท่านั้น
ผู้สังเกตการณ์หลายคนกล่าวว่า สถานการณ์เกี่ยวกับวัคซีนในฮ่องกงมีปัญหาเพราะปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความลังเลของประชาชน การแพร่กระจายข้อมูลที่ถูกบิดเบือนทางสื่อออนไลน์ และการที่ทางการเมืองบางเมืองไม่แสดงความกระตือรือร้นที่จะแจกจ่ายวัคซีนเพราะสามารถหลีกเลี่ยงภาวการณ์ระบาดใหญ่มาได้ก่อนหน้านี้ รวมทั้ง การที่ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นในรัฐบาลฮ่องกงและรัฐบาลจีนด้วย