Your browser doesn’t support HTML5
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับสองประเทศมหาอำนาจซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญคือจีนกับรัสเซียกำลังเผชิญบททดสอบอย่างหนัก หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวตำหนิประเทศทั้งสองอย่างรุนแรง
นักวิเคราะห์มองว่า ประธานาธิบดีไบเดนกำลังพยายามสร้างความแตกต่างระหว่างนโยบายของสหรัฐฯ ต่อรัสเซีย เทียบกับในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และพยายามพิสูจน์ว่าสหรัฐฯ ไม่ได้อ่อนข้อให้กับจีนตามคำกล่าวโจมตีของโดนัลด์ ทรัมป์ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปลายปีที่แล้วด้วย
โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ท่าทีที่แข็งกร้าวจากประธานาธิบดีไบเดนและจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่อรัสเซียกับจีน ทำให้มีการคาดการณ์กันว่าความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับสองประเทศคู่แข่งนี้อาจดำเนินต่อไปอีกนานหลายเดือน และคงไม่สามารถขบแก้ได้ง่ายๆ หากไม่มีการพบปะหารือในระดับผู้นำหรือไม่มีการยอมผ่อนปรนอย่างสำคัญจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
SEE ALSO: นาวาลนี ผู้นำฝ่ายค้านรัสเซีย ยืนยัน ‘สบายดี’ แม้ถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างการให้สัมภาษณ์กับข่ายงานโทรทัศน์เอบีซีเมื่อวันพุธ ประธานาธิบดีไบเดนตอบคำถามว่า ตนคิดว่าประธานาธิบดีปูตินเป็น "นักฆ่า" จากกรณีที่เกี่ยวกับนายอเล็กไซ นาวาลนี ผู้นำฝ่ายค้านของรัสเซีย
คำกล่าวของประธานาธิบดีไบเดนที่ว่านี้ทำให้รัสเซียตอบโต้ด้วยการเรียกตัวทูตของตนกลับกรุงมอสโก และประธานาธิบดีปูตินเองก็กล่าวโต้ด้วยการชี้ถึงประวัติศาสตร์เรื่องทาสของสหรัฐฯ รวมถึงเรื่องการสังหารชนเผ่าอินเดียนแดง และการทิ้งระเบิดปรมาณูซึ่งทำให้ชาวญี่ปุ่นต้องเสียชีวิตไปหลายแสนคน
และระหว่างการพบพารือแบบสองฝ่ายระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านนโยบายของสหรัฐฯ กับจีน ที่รัฐอะแลสก้า เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว นายแอนโทนี บลิงเคน เจ้ากระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ก็ได้ตำหนิจีนในหลายด้าน นับตั้งแต่เรื่องสิทธิมนุษยชนในมณฑลซินเจียงและทิเบต จนถึงเรื่องการปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงและเรื่องทะเลจีนใต้
ซึ่งก็เป็นผลให้นายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศ กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตอบโต้โดยกล่าวว่าสหรัฐฯ นั้นมีพฤติกรรมแบบปากว่าตาขยิบที่ตำหนิจีน เพราะสหรัฐฯ เองก็มีปัญหาภายในของตนซึ่งรวมถึงการก่อความรุนแรงกับชาวเอเชียและกับคนต่างสีผิว และเรื่องความไม่สงบทางการเมืองในช่วงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี เป็นต้น
ด้านนายแอนโทนี บลิงเคน ก็ตอบกลับว่า สหรัฐฯ นั้นไม่ดีสมบูรณ์แบบแต่ก็พยายามแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างเปิดเผยและจริงใจ รวมทั้งกล่าวว่าความเต็มใจของสหรัฐฯ ที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาคือสูตรลับสำหรับความสำเร็จของสหรัฐฯ
SEE ALSO: รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ - จีน หารือครั้งแรกที่รัฐอะแลสกา
นักวิเคราะห์มองว่า การตำหนิผู้นำรัสเซียเป็นความพยายามของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่จะแสดงถึงความแตกต่างเรื่องนโยบายของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน จากสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ดูจะอ่อนข้อและไม่ยอมตำหนิรัสเซีย
ส่วนท่าทีที่แข็งกร้าวของสหรัฐฯ ต่อจีนในปัจจุบัน ก็เป็นการตอบโต้คำกล่าวหาและการโจมตีจากโดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว ที่ว่าโจ ไบเดน จะไม่กล้าเผชิญหน้ากับจีนอย่างแข็งกร้าวเหมือนกับตนนั่นเอง
ในวันจันทร์ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ จะเดินทางไปยังกรุงบรัสเซลเพื่อหารือกับเจ้าหน้าที่ขององค์การนาโต้และของสหภาพยุโรปเพื่อซ่อมแซมความตึงเครียดและความหมางเมินจากคำขู่ของโดนัลด์ ทรัมป์ และจากท่าทีเรื่องการจะใช้สงครามการค้า รวมทั้งการเรียกร้องให้ประเทศในยุโรปต้องรับผิดชอบมากขึ้นสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการทหารขององค์การนาโต้ด้วย
และเพื่อสำทับท่าทีที่เอาจริงเกี่ยวกับรัสเซีย สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐฯ ได้เปิดเผยรายงานซึ่งลดชั้นความลับลงที่ระบุว่า ประธานาธิบดีปูตินเป็นผู้อนุมัติให้มีปฏิบัติการลับเพื่อช่วยให้โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว
ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็กล่าวว่า รัสเซียจะต้องได้รับผลจากการกระทำดังกล่าวนี้ โดยคาดว่าจะมีการใช้มาตรการลงโทษเพิ่มเติมกับรัสเซียในอีกไม่ช้า จากความพยายามเข้ามามีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ และจากปฏิบัติการเจาะล้วงระบบคอมพิวเตอร์ที่มีชื่อว่า SolarWinds