สหรัฐฯ ออกมาตรการลงโทษชุดใหม่ต่อรัสเซีย เมื่อวันศุกร์ มุ่งเป้าบุคคลและองค์กร 500 ราย ในวาระครบรอบ 2 ปี สงครามที่รัสเซียส่งทหารรุกรานยูเครน และการเสียชีวิตของอเล็กเซ นาวาลนี ผู้นำฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเครมลิน
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ออกมาตรการลงโทษ มุ่งเป้าบุคคลและองค์กรเกือบ 300 รายชื่อในวันศุกร์ ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาตรการลงโทษกับบุคคลและองค์กรกว่า 250 รายชื่อ ส่วนกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้เพิ่มรายชื่อบริษัทกว่า 90 แห่งของรัสเซีย จีน ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศอื่น ๆ เข้าไปในบัญชีดำของสหรัฐฯ
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ กล่าวในวันศุกร์ว่ามาตรการเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อให้แน่ใจว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย “ต้องชดใช้ในการก้าวร้าวรุกรานในต่างประเทศและการปราบปรามผู้เห็นต่างในประเทศ”
มาตรการลงโทษชุดใหม่ของสหรัฐฯ มุ่งเป้าไปในที่ระบบธุรกรรมการเงินของรัสเซีย ที่ชื่อว่า เมียร์ (Mir) สถาบันการเงินต่าง ๆ ฐานอุตสาหกรรมการทหารของรัสเซีย ภาคพลังงานและภาคส่วนอื่น ๆ รวมทั้งยังมีมาตรการลงโทษต่อเจ้าหน้าที่เรือนจำ ที่สหรัฐฯ ระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของนาวาลนีอีกด้วย
อนาโตลี อันโตนอฟ เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหรัฐฯ กล่าวผ่านบัญชีเทเลแกรมของสถานทูตรัสเซียในสหรัฐฯ ว่า “รัฐบาลวอชิงตันไม่เข้าใจหรือว่ามาตรการลงโทษเหล่านี้ไม่อาจจัดการเราได้?”
รัสเซียส่งทหารรุกรานยูเครน เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2022 และสงครามนี้ได้คร่าชีวิตผู้คนนับหมื่นและทำให้หลายเมืองเสียหายหนัก
ที่ผ่านมา คณะทำงานของประธานาธิบดีไบเดน พยายามหาทางสนับสนุนยูเครน ในช่วงที่ยูเครนเผชิญกับการขาดแคลนกระสุน และการอนุมัติความช่วยเหลือด้านการทหารของสหรัฐฯ ล่าช้ามาหลายเดือนแล้ว
ชาติตะวันตกได้ระดมอัดมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียมากมายหลังสงครามยูเครนปะทุขึ้น โดยในวันศุกร์ ทางสหภาพยุโรป อังกฤษ และแคนาดา ออกมาตรการลงโทษรัสเซียเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน ทำให้ตอนนี้มีบุคคลและองค์กรกว่า 2,000 รายชื่อที่อยู่ในบัญชีดำของสหภาพยุโรปภายใต้มาตรการลงโทษที่มุ่งเป้ารัสเซียแล้ว
ที่น่าสนใจคือ นี่เป็นครั้งแรกที่มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของอียู มุ่งเป้าบริษัทของจีน ที่ต้องสงสัยว่าช่วยเหลือรัฐบาลเครมลิน นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอินเดีย ตุรกี เซอร์เบีย คาซัคสถาน สิงคโปร์ ศรีลังกา ฮ่องกง รวมทั้งไทย ที่อยู่ในรายชื่อล่าสุดนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของรัสเซียที่มุ่งเน้นภาคการส่งออกนั้น กลับมีความทนทานต่อมาตรการลงโทษที่ชาติตะวันตกระดมใช้กับรัสเซียมาร่วม 2 ปี
โดยเศรษฐกิจแดนหมีขาวอยู่ในทิศทางที่ดีกว่าคาดการณ์ ซึ่งทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ของรัสเซีย จะเติบโต 2.6% ในปี 2024 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมในเดือนตุลาคมปีก่อนราว 1.5% หลังจากเศรษฐกิจรัสเซียเติบโตได้ 3.0% ในปี 2023
- ที่มา: วีโอเอ, รอยเตอร์