การติดเชื้อ Superbug ในสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้นในขณะที่อัตราการเสียชีวิตลดลง

An employee at a microbiological laboratory in Berlin displays MRSA, a drug-resistant "superbug" that can cause deadly infections.

“Superbug” หรือเชื้อโรคที่ดื้อยาเรียกได้ว่าเป็นภัยคุกคามสุขภาพสาธารณะชน จนอาจทำให้ความก้าวหน้าทางการแพทย์ถดถอยลงไปหนึ่งศตวรรษ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหลายๆ คนเตือนว่าการติดเชื้อดังกล่าวอาจทำให้เชื้อโรคบางชนิดไม่สามารถรักษาให้หายได้

Your browser doesn’t support HTML5

Superbug

เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวที่น่าประหลาดใจว่า อัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ Superbug ในสหรัฐฯ ดูเหมือนจะลดน้อยลง กล่าวคือในปีพ.ศ. 2560 มีชาวอเมริกันราว 36,000 คนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยา ในขณะที่ปี พ.ศ. 2556 มีอัตราการเสียชีวิตด้วยสาเหตุเดียวกันนี้ราว 44,000 คน ข้อมูลดังกล่าวมาจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ หรือ CDC (U.S. Centers for Disease Control and Prevention)

รายงานของ CDC เมื่อเร็วๆ นี้ระบุว่าอัตราการเสียชีวิตที่ลดลงนั้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความพยายามครั้งสำคัญของบรรดาโรงพยาบาลต่างๆ ในการควบคุมการแพร่กระจายการติดเชื้อที่เป็นอันตรายอย่างมากชนิดนี้

อย่างไรก็ตามแม้ว่าอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโรคดื้อยา จะลดน้อยลง แต่อัตราการติดเชื้อชนิดที่ไม่ได้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตกลับเพิ่มขึ้นทั่วประเทศจาก 2.6 ล้านคนในปีพ.ศ. 2556 เป็น 2.8 ล้านคนในปีพ.ศ. 2560 เนื่องจากมีการพัฒนาของเชื้อโรคที่ก่อปัญหาตัวใหม่ขึ้น และการติดเชื้อ Superbugs ก็มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งนอกโรงพยาบาล

Bradley Frazee แพทย์ห้องฉุกเฉินที่โรงพยาบาลแคลิฟอร์เนีย ยกตัวอย่างการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ที่สามารถรักษาได้อย่างง่ายดายด้วยยาปฏิชีวนะทั่วไปตามคลีนิคแพทย์ แต่ตอนนี้เป็นเรื่องทั่วๆ ไปที่จะเห็นว่ามีผู้หญิงสุขภาพดีที่อายุยังน้อยติดเชื้อดังกล่าวจนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหลังจากที่การรักษาที่คลีนิคแพทย์ไม่ได้ผล

เขากล่าวอีกว่า แพทย์ไม่เคยมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องเชื้อโรคที่ดื้อยาปฏิชีวนะมาก่อนเลย แต่เมื่อปีที่แล้วเขาได้เป็นหัวหน้าในการเขียนรายงานซึ่งระบุว่า มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะที่ดื้อยามากกว่า 1,000 รายที่โรงพยาบาลไฮแลนด์ ในเมืองโอ๊คแลนด์

ทั้งนี้มีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างแพร่หลายในสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในช่วงยุค 1940 และในปัจจุบัน แพทย์ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าหรือควบคุมแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อทุกชนิด ตั้งแต่คออักเสบไปจนถึงกาฬโรค แต่ยาปฏิชีวนะบางตัวก็หยุดทำงาน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไปและการใช้ที่ผิดวิธีทำให้ยาเหล่านี้มีประสิทธิภาพลดลง

รายงานเมื่อปีพ.ศ. 2556 ชี้ว่าการติดเชื้อโรคดื้อยา ทำให้มีผู้เสียชีวิตในสหรัฐฯ มากกว่า 23,000 คน และทำให้มีผู้ติดเชื้อปีละมากกว่าสองล้านกรณี และตัวเลขดังกล่าวเกิดจากการติดเชื้อโรคที่เป็นอันตรายที่สุดถึง 17 ชนิดด้วยกัน

แต่ข้อมูลของปีนี้ ไม่ได้รวมเอาอัตราการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยนับพันรายจากเชื้อโรคร้ายที่มีชื่อว่า Clostridium difficile ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าเพราะในขณะที่ยาปฏิชีวนะสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นๆ ได้ แต่ C. diff กลับสามารถเติบโตขึ้นอย่างไม่สามารถควบคุมได้ แต่ข่าวดีก็คือจำนวนกรณีการติดเชื้อ C. diff และจำนวนการเสียชีวิตจากเชื้อโรคชนิดนี้ก็ลดลงด้วยเช่นเดียวกัน

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสหรัฐฯ กล่าวชื่นชมโรงพยาบาลต่างๆ ในเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างระมัดระวังมากขึ้น และมีการแยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยาออกจากผู้ป่วยอื่นๆ และพวกเขายังเชื่อว่างบประมาณสำหรับการทดลองในห้องปฏิบัติการของรัฐบาล ช่วยให้นักวิจัยสามารถระบุเชื้อโรคที่ดื้อยาและหาทางรับมือกับเชื้อโรคเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม Michael Craig หัวหน้าคณะวิจัยเรื่อง Superbug แห่งศูนย์ควบคุมป้องกันโรคสหรัฐฯกล่าวทิ้งท้ายว่า ยังมีผู้คนอีกมากมายที่กำลังจะเสียชีวิตลง และว่าหนทางยังอีกยาวไกลกว่าที่จะสามารถเอาชนะเชื้อโรคดื้อยา Superbug ได้