ซีอีโอติ๊กตอก กล่าวในวันพุธว่าทางบริษัทคาดว่าจะชนะคดีจากกฎหมายที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เพิ่งลงนามไปในวันเดียวกันนี้ ในการสั่งแบนแอปพลิเคชันยอดนิยมที่มีผู้ใช้ 170 ล้านคนในอเมริกา หากบริษัทไบต์แดนซ์ (Bytedance) เจ้าของสื่อสังคมออนไลน์ ติ๊กตอก (TikTok) ไม่สามารถขายหุ้นทั้งหมดภายในเวลา 9 เดือนถึง 1 ปี
โชว ซื่อ ชู (Shou Zi Chew) ซีอีโอติ๊กตอก กล่าวในวิดีโอไม่นานหลังจากปธน.ไบเดน ลงนามร่างกฎหมายที่ให้เวลาติ๊กตอก 270 วันในการขายกิจการในสหรัฐฯ หรือเสี่ยงถูกห้ามใช้ในอเมริกา โดยกล่าวว่า “เราจะไม่ไปไหน” และว่า “ความจริงและรัฐธรรมนูญจะอยู่ข้างเราและคาดว่าเราจะได้รับชัยชนะอีกครั้ง”
ไบเดน ขีดเส้นตายขายกิจการในวันที่ 19 มกราคม ซึ่งเป็นเวลา 1 วันก่อนที่เขาจะหมดวาระผู้นำสหรัฐฯ แต่ไบเดนอาจขยายเส้นตายดังกล่าวได้อีก 3 เดือน หากเห็นว่าบริษัทไบต์แดนซ์มีความคืบหน้าในเรื่องการขายกิจการ
กฎหมายแบนติ๊กตอกนี้ได้รับแรงขับเคลื่อนจากความกังวลในหมู่นักการเมืองอเมริกันว่าจีนอาจเข้าถึงข้อมูลหรือสอดแนมชาวอเมริกันผ่านแอปฯ ดังกล่าว ก่อนที่ร่างกฎหมายจะผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อวันเสาร์ และวุฒิสภาในค่ำวันอังคาร ก่อนส่งต่อให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามเป็นกฎหมายในวันพุธ
วุฒิสมาชิก มาร์โก รูบิโอ จากพรรครีพับลิกัน ในฐานะคณะกรรมาธิการด้านข่าวกรองแห่งวุฒิสภาสหรัฐฯ กล่าวว่า “กฎหมายใหม่จะบังคับให้บริษัทจีนขายกิจการแอปฯ นี่เป็นเรื่องที่ดีสำหรับอเมริกา”
ด้านกระทรวงต่างประเทศจีน ระบุในวันพุธโดยย้ำถึงความเห็นของกระทรวงเมื่อเดือนมีนาคม ที่สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างกฎหมายที่คล้ายกันนี้ว่า “แม้ว่าสหรัฐฯ ไม่เคยพบหลักฐานว่าติ๊กตอกเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ แต่สหรัฐฯ ไม่เคยหยุดที่จะติดตามติ๊กตอก”
นี่ถือเป็นหนึ่งในการต่อสู้ที่ดำเนินมาถึง 4 ปีของสหรัฐฯ ต่อประเด็นติ๊กตอก แอปฯ ที่มีผู้ใช้ 170 ล้านคนในสหรัฐฯ และเป็นส่วนหนึ่งของการขัดแย้งด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แอปเปิล ระบุว่า รัฐบาลจีนสั่งให้ถอดวอทส์แอปและเธรดส์ จากแอปสโตร์ในจีน เนื่องจากความกังวลด้านความมั่นคง
ย้อนไปเมื่อปี 2020 อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผลักดันแผนการปิดกั้นการใช้แอปติ๊กตอกและวีแชท ในสหรัฐฯ แต่ถูกศาลปัดตกไป แต่ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าร่างกฎหมายใหม่ที่ว่านี้อาจมอบอำนาจให้กับคณะทำงานของประธานาธิบดีไบเดน ในการแบนแอปฯ ติ๊กตอกได้หากล้มเหลวในการขายกิจการในสหรัฐฯ
ทางติ๊กตอก ยืนยันว่าไม่มีการแบ่งปันข้อมูลของผู้ใช้ในอเมริกากับรัฐบาลจีน แต่คาดว่าติ๊กตอกรวมถึงผู้ใช้ เตรียมเดินหน้าทางกฎหมายว่าด้วยผลกระทบต่อสิทธิในการแสดงออกของประชาชน ตามบทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ฉบับที่ 1 หรือ First Amendment
ทั้งนี้ นักการเมืองและกลุ่มนักเคลื่อนไหวมองว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวอาจเปิดทางให้ทำเนียบขาวมีเครื่องมือใหม่ในการแบนหรือบังคับขายกิจการแอปฯ ของต่างชาติ ที่มองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงประเทศได้
วุฒิสมาชิกรอน ไวเดน จากพรรคเดโมแครต แสดงความกังวลว่าร่างกฎหมายนี้ “มอบอำนาจในวงกว้างที่อาจถูกใช้อย่างผิด ๆ ในคณะทำงานในอนาคต เพื่อละเมิดสิทธิในการแสดงออกของชาวอเมริกัน”
เช่นเดียวกับทาง American Civil Liberties Union ระบุว่าการแบนหรือสั่งขายกิจการของติ๊กตอกนั้น อาจ “สร้างแบบอย่างที่น่าตกใจถึงการใช้อำนาจควบคุมสื่อสังคมออนไลน์ของรัฐบาลที่เกินจำเป็น .. หากสหรัฐฯ แบนแพลตฟอร์มต่างชาติได้ในวันนี้ อาจทำให้มีมาตรการที่คล้ายกันจากประเทศอื่น ๆ ได้”
- ที่มา: รอยเตอร์