'แทมมี ดักเวิร์ธ' พร้อมส.ว.เดโมเเครตหลายคน เสนอวุฒิสภาสนับสนุนปชต.ในไทย

Pro-democracy activists show the three-finger salute as they protest after the constitutional court's ruling on Prime Minister Prayuth Chan-Ocha's conflict of interest case, in Bangkok, Thailand, Dec. 2, 2020.

เมื่อวันพฤหัสบดี (3 ธ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น สมาชิกคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ จากพรรคเดโมเเครต และส.ว.จากพรรคเดียวกันคนอื่นๆ รวมกันทั้งหมด 9 คน ซึ่งมี พ.ท. หญิง ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ เชื้อสายไทย รวมอยู่ด้วย ยื่นเสนอขอมติวุฒิสภา เพื่อเน้นพันธสัญญาของสหรัฐฯ ต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และหลักนิติธรรมในไทย หลังมีการประท้วงอย่างต่อเนื่องหลายเดือน ” ตามในร่างแถลงการณ์ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการฯ ระบุ Click

“นักปฏิรูปในประเทศไทยไม่ได้เรียกร้องการปฏิวัติสังคม พวกเขาเพียงต้องการเปลี่ยนแปลงระบบการเมือง เพื่อเสรีภาพในการพูดและการชุมนุม และเพื่อให้ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมประเทศประชาธิปไตย” บ็อบ เมเนนเดซ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ จากรัฐนิวเจอร์ซีย์ หนึ่งในผู้นำยื่นมติ กล่าว

Senate Foreign Relations Committee ranking member Sen. Bob Menendez

วุฒิสมาชิก เมเนนเดซ ยังย้ำด้วยว่า มติดังกล่าวจะเป็นการ “ส่งข้อความอย่างชัดเจน” เพื่อสนับสนุนเสรีภาพในการพูดและการชุมนุมในไทย และเตือนให้ทุกฝ่ายให้ไม่ใช้ความรุนแรงและการคุกคามที่ไม่จำเป็น

“สหรัฐฯ ต้องแสดงออกอย่างชัดเจนว่าความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนในระยะยาวของสหรัฐฯ กับไทย จะดำเนินต่อไปบนพื้นฐานของประโยชน์ร่วมกัน และบนพื้นฐานของการเคารพประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนพื้นฐาน และหลักนิติธรรมร่วมกัน” เมเนนเดซกล่าว

“ขณะที่คนไทยถกเถียงถึงการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ อนาคตทางการเมืองของพวกเขาควรถูกกำหนดโดยการเจรจาอย่างสันติ ไม่ใช่ความรุนแรง การคุกคาม หรือการข่มเหงรังแก” ดิค เดอร์บิน วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ จากรัฐอิลลินอยส์ ระบุ “โดยเฉพาะเสียงของนักเรียนนักศึกษา และเยาวชนไทยที่กล้าหาญนั้น ควรได้รับความสนใจและการเคารพ”

FILE - Sen. Tammy Duckworth, D-Ill., speaks on Capitol Hill, in Washington, Feb. 14, 2018.

ขณะที่ พ.ท. หญิง ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ จากรัฐอิลลินอยส์ ยังส่งข้อความในฐานะ “ชาวไทย-อเมริกันที่ต่อสู้เพื่อสิทธิในการประท้วงอย่างสันติในสหรัฐฯ” ถึงผู้นำไทยให้ “รับฟังประชาชนและเคารพหลักประชาธิปไตย ทำให้ (เรื่องนี้) เป็นประเด็นหลักของรัฐบาลที่จัดตั้งมาได้อย่างยากลำบากให้ได้”

ทั้งนี้ เอกสารที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการดังกล่าว ระบุมติจำนวนห้าข้อที่เรียกร้องให้วุฒิสภาสหรัฐฯ

1. เน้นย้ำความสัมพันธ์สหรัฐฯ - ไทย บนพื้นฐานของคุณค่าทางประชาธิปไตยและผลประโยชน์ด้านยุทธศาสตร์ร่วมกัน


2. สนับสนุนชาวไทยในการเรียกร้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย การปฏิรูปการเมือง สันติภาพในระยะยาว และการเคารพมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล


3. เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปกป้องและสนับสนุนประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติ เสรีภาพในการแสดงออก และปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข รวมทั้งหยุดคุกคาม ข่มขู่ หรือข่มเหงผู้เข้าร่วมประท้วงอย่างสันติ โดยเน้นการดูแลสิทธิและความปลอดภัยของเด็กและนักเรียนนักศึกษาเป็นพิเศษ

4. เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ สนับสนุนสิทธิของชาวไทยในการกำหนดอนาคตของพวกเขาอย่างสันติและเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย

5. ระบุอย่างชัดเจนว่าการทำรัฐประหารเพื่อแก้วิกฤติทางการเมืองในปัจจุบันจะทำให้เกิดผลในทางตรงกันข้าม และอาจส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-ไทย มากขึ้น

เอกสารจำนวน 5 หน้าดังกล่าว ยังให้รายละเอียด ระบุ ถึงสถานการณ์การเมืองไทย นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปีพ.ศ. 2475 วงจรการเกิดรัฐประหารและรัฐบาลทหารหลายครั้งในรอบเกือบศตวรรษ การรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2557 การประกาศใช้รัฐธรรมนูญปัจจุบันที่ร่างโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ “ทำให้ประชาธิปไตยในไทยและการคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญเสื่อมถอยลง”

เอกสารดังกล่าวยังระบุถึงการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วว่า “มีกลุ่มติดตามการเลือกตั้ง อิสระหลายกลุ่ม ระบุว่ามีข้อพร่อง และเอนเอียงเพื่อให้กลุ่มอำนาจทหาร ที่มีพรรคของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะทหารและไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” การยุบพรรคอนาคตใหม่ และการที่รัฐบาลไทย “ล้มเหลวต่อการสืบสวนประเด็นการทำร้ายนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและผู้วิจารณ์รัฐบาลในไทย และผู้เห็นต่างทางการเมืองชาวไทยที่ลี้ภัยในประเทศต่างๆ ในเอเชียที่ถูกบังคับให้สูญหายและถูกฆาตกรรม”

เอกสารฉบับนี้ยังระบุถึงการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสันติในไทยนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ การที่รัฐบาลไทยปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยการคุกคาม สะกดรอยตาม ใช้ความรุนแรง จับกุมรวมถึงคุมขัง โดยมีผู้ประท้วงถูกจับกุมแล้วกว่า 170 คนนับตั้งแต่มีการชุมนุมมา

ทั้งนี้ การเสนอมติของวุฒิสภาบางครั้งเป็นการแสดงจุดยืนทางการเมืองหรือการต่างประเทศ แต่ไม่ได้มีผลในทางปฏิบัติ​

ผู้ลี้ภัยการเมืองชาวไทยในสหรัฐฯ เผย “ดีใจมาก” วุฒิสภาสหรัฐฯ ผลักดันประเด็นประชาธิปไตยในไทย

ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยในนครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย คาดหวังว่า ท่าทีของวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ครั้งนี้ จะเป็นหนึ่งในอีกเสียงจากนานาประเทศที่เป็นกำลังใจให้ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยชาวไทยไม่รู้สึกโดดเดี่ยว และช่วยสร้างแรงกดดันไปยังผู้มีอำนาจในไทยมากจึ้น

“อย่างน้อยที่สุด การที่ผู้มีอำนาจจะเอากฎหมายอย่างเช่นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (กำหนดบทลงโทษการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) ออกมาใช้กวาดล้างแบบเดิมนั้น ก็จะทำให้สังคมโลกประณามและตั้งคำถามกดดันกลับไปมากขึ้นกว่าเดิม” ณัฏฐิกา ผู้ถูกดำเนินคดีจากกฎหมายมาตราดังกล่าว รวมถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งกำหนดบทลงโทษฐานยุยงปลุกปั่น สืบเนื่องจากการเป็นหนึ่งในแอดมินเพจล้อเลียนพลเอกประยุทธ์ กล่าว

Pro democracy demonstrators face water canons as police try to disperse them from their protest venue in Bangkok, Thailand, Friday, Oct. 16, 2020. Thailand prime minister has rejected calls for his resignation as his government steps up efforts to stop st


“ประเทศไทยยังอยู่ในระหว่างการต่อสู้ทางการเมือง การออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวและไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงตอบโต้ประชาชนที่ออกมาประท้วง ถือเป็นกำลังใจชั้นดีที่ทำให้ขบวนการประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไป” ผู้ลี้ภัยชาวไทยที่อาศัยในสหรัฐฯ มากว่า 3 ปี กล่าว “ส่วนตัวคิดว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะกินเวลาไปอีกหลายปี”

ในฐานะหนึ่งในแกนนำผู้จัดการชุมนุมในสหรัฐฯ คู่ขนานกับการเรียกร้องประชาธิปไตยในไทย ณัฏฐิกาตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลที่วุฒิสภาสหรัฐฯ ให้ความสนใจในประเด็นนี้ อาจเป็นเพราะการชุมนุมที่ผู้ชุมนุมไม่ลดลงเลยแม้จะกินเวลามาหลายเดือนและถูกปราบปรามจากรัฐ นอกจากนี้ ขบวนการขับเคลื่อนของคนไทยในต่างประเทศยังเดินหน้าไปอย่างเข้มแข็ง รวมถึงมีการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อให้การชุมนุมมีความน่าสนใจ

วีโอเอไทยสอบถามเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวไปยังนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไทย แต่ไม่ได้รับคำตอบ ณ เวลาที่เผยแพร่รายงานข่าวฉบับนี้