นักวิจัยสหรัฐฯ ดึง AI ทำนาย ‘แผ่นดินไหว’ ล่วงหน้า

  • VOA

แฟ้มภาพ - เหตุแผ่นดินไหวที่ตุรกี

แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ และที่ผ่านมา เหตุภัยพิบัติรุนแรงนี้ก็เกิดขึ้นทั่วโลก โดยปราศจากการเตือนล่วงหน้า

เซอร์เกย์ โฟเมล อาจารย์ด้านธรณีฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส วิทยาเขตออสติน (University of Texas at Austin - UT) กล่าวว่า “สำหรับแผ่นดินไหววิทยา การพยากรณ์แผ่นดินไหวถือเป็นสิ่งสุดท้ายที่รอคอยมาอย่างยาวนาน ผู้คนพยายามทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นมานานกว่า 100 ปีแล้ว”

ทีมงานที่ UT ได้พัฒนาแบบจำลองเพื่อพยากรณ์การเกิดแผ่นดินไหว โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งนำไปใช้ในการแข่งขันที่กินเวลานานถึงสองปี เพื่อทำนายการเกิดแผ่นดินไหวแบบเรียลไทม์

หยางคัง เฉิน ผู้ช่วยอาจารย์ประจำสำนักเศรษฐธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยเท็กซัส วิทยาเขตออสติน

หยางคัง เฉิน หัวหน้าทีมการแข่งขัน และเป็นผู้ช่วยอาจารย์ประจำสำนักเศรษฐธรณีวิทยาของ UT เผยว่า พวกเขาสามารถพยากรณ์แผ่นดินไหวได้แม่นยำสูงถึง 70% โดยสิ่งที่ทำนายได้มีทั้ง ความรุนแรง จุดเกิดเหตุ ไปจนถึงโอกาสของการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ทีมชนะการแข่งขัน

ผลการคาดการณ์แผ่นดินไหวโดยทีมงานจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส

เฉิน เล่าว่า “เนื่องจากจะต้องลงแข่ง ทำให้เรามีชุดข้อมูลที่ดีมาก และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือชุดทดสอบแนวคิดแบบเรียลไทม์”

หัวหน้าทีมในการแข่งขันนี้ ยังระบุว่า โมเดลปัญญาประดิษฐ์ช่วยประมวลข้อมูลที่ป้อนให้ และทำนายการเกิดแผ่นดินไหว รวมถึงค้นหารูปแบบของภัยธรรมชาตินี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกินศักยภาพของมนุษย์ที่จะวิเคราะห์ด้วยตนเองได้

ทีมงานของ UT ยังทำงานร่วมกับ TexNet ซึ่งเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังแผ่นดินไหววิทยาของรัฐเท็กซัสด้วย

อเล็กซานเดอร์ ซาฟไวดิส ผู้สอบหลักของ TexNet

อเล็กซานเดอร์ ซาฟไวดิส ผู้สอบหลักของ TexNet อธิบายถึงหลักการว่า “ถ้าเราสามารถระบุ พารามิเตอร์ (ค่าตัวแปร) ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของพื้นดิน หรือระบบเซ็นเซอร์แม่เหล็กไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงก่อนเกิดแผ่นดินไหวได้ ในอนาคต หากพารามิเตอร์เหล่านั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เราสามารถทำนายได้ว่า จะเกิดแผ่นดินไหว”

ที่ผ่านมา ทีม UT สามารถทำนายการเกิดแผ่นดินไหวได้ล่วงหน้าถึงหนึ่งสัปดาห์ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีที่กระชั้นกว่านั้น

เซอร์เกย์ โฟเมล อาจารย์ด้านธรณีฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส วิทยาเขตออสติน

เซอร์เกย์ โฟเมล อาจารย์ด้านธรณีฟิสิกส์ จาก UT ชี้ว่า ขณะที่ การการพยากรณ์ที่แม่นยำที่สุดอาจเกิดขึ้นแบบกะทันหันก่อนเหตุจริงไม่นาน แต่ในส่วนของระบบเตือนภัยล่วงหน้านั้น การรู้ก่อน แม้จะเป็นระยะเวลาที่เล็กน้อย ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว

ปัจจุบันนี้ ทีมงานของ UT กำลังใช้ติดตั้งชุดทดสอบแนวคิดแบบเรียลไทม์ตามที่ตั้งภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน โดยหวังที่จะพัฒนาความสามารถในการพยากรณ์เหตุแผ่นดินไหวล่วงหน้าให้สูงขึ้นต่อไป

  • ที่มา: วีโอเอ