สหรัฐฯ หวั่นอาวุธรุ่นใหม่ของรัสเซียสามารถโจมตีถึงอวกาศ

In this video grab provided by RU-RTR Russian television via AP television on March 1, 2018, a Russian military truck with a laser weapon mounted on it is shown at an undisclosed location in Russia.

Your browser doesn’t support HTML5

สหรัฐฯ หวั่นอาวุธรุ่นใหม่ของรัสเซียสามารถโจมตีถึงอวกาศ

รัฐบาลสหรัฐฯ แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่ออาวุธรุ่นใหม่ของรัสเซียที่สามารถโจมตีได้ถึงนอกโลก เช่น ระบบยิงแสงเลเซอร์ระยะไกลที่สามารถทำลายดาวเทียมในอวกาศได้

ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายการควบคุมและตรวจสอบอาวุธ ยาลีม โพบลีท (Yleem Poblete) กล่าวต่อที่ประชุมด้านการยับยั้งอาวุธของสหประชาชาติ ในวันอังคาร ว่าการที่รัสเซียกำลังพัฒนาศักยภาพด้านอาวุธในอวกาศ สร้างความกังวลอย่างยิ่งให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ

แต่ผู้แทนของรัสเซียที่ร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย กล่าวปัดคำกล่าวหาของผู้ช่วยรัฐมนตรียาลีม โดยบอกว่าไม่มีหลักฐานและเป็นการหมิ่นประมาทรัสเซีย

เวลานี้สหประชาชาติกำลังหารือเรื่องการจัดทำสนธิสัญญาฉบับใหม่เพื่อควบคุมการแข่งขันด้านอาวุธในอวกาศ

โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เก ลาฟรอฟ (Sergei Lavrov) กล่าวต่อที่ประชุมสหประชาชาติที่นครเจนีวา ว่าภารกิจของสหประชาชาติที่พยายามป้องกันการแข่งขันด้านอาวุธในอวกาศนี้ ตรงกับความตั้งใจของรัสเซียที่เพิ่งจัดทำร่างข้อตกลงร่วมกับจีนเพื่อยับยั้งการสั่งสมอาวุธในอวกาศเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมีนาคม ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเวียร์ ปูติน ได้เปิดเผยอาวุธรุ่นใหม่ของรัสเซีย 6 ชนิด ซึ่งรวมถึงระบบยิงแสงเลเซอร์ระยะไกล Peresvet ที่สามารถโจมตีดาวเทียมที่อยู่นอกโลกได้

ผู้ช่วยรัฐมนตรียาลีม ยังระบุถึงดาวเทียมตรวจการณ์รุ่นใหม่ของรัสเซีย ที่เปิดตัวเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว โดยสหรัฐฯ เชื่อว่ารัฐบาลกรุงมอสโกมีท่าทีแปลกไปในการเปิดตัวดาวเทียมดังกล่าวซึ่งคล้ายคลึงกับการเปิดตัวอาวุธชนิดใหม่ และยังแสดงความกังวลถึงร่างข้อตกลงระหว่างจีนกับรัสเซียว่าไม่มีการห้ามการสั่งสมอาวุธที่สามารถโจมตีได้ในอวกาศ

แต่ทางทูตรัสเซียประจำนครเจนีวา อเล็กซานเดอร์ ดีเนโก้ (Alexander Deyneko) กล่าวปฏิเสธข้อกล่าวหาของผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ พร้อมระบุว่า สหรัฐฯ ไม่ควรเป็นกังวลมากเกินไปเกี่ยวกับข้อตกลงระหว่างจีนกับรัสเซียดังกล่าว และควรเร่งทำเรื่องที่เป็นประโยชน์มากกว่า คือการจัดทำสนธิสัญญาควบคุมการแข่งขันด้านอาวุธในอวกาศระหว่างประเทศ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของประชาชนอเมริกันเอง

ทางด้านผู้แทนของจีนระบุว่า จีนขอยืนหยัดเพื่อสันติภาพในห้วงอวกาศ และขอต่อต้านการพัฒนาและสั่งสมอาวุธในอวกาศ หรือการพยายามทำให้ห้วงอวกาศกลายเป็นสนามรบแห่งใหม่

เวลานี้ ประเด็นเรื่องการแข่งขันในอวกาศระหว่างประเทศมหาอำนาจต่างๆ ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง หลังจากประธาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเมื่อเดือนมิถุนายนว่าต้องการจัดตั้ง “กองทัพอวกาศ” (Space Force) เป็นเหล่าทัพที่ 6 ของสหรัฐฯ เพื่อดูแลด้านอวกาศโดยเฉพาะ โดยตั้งเป้าว่าจะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่และเป็นผู้นำในด้านการสำรวจอวกาศอีกครั้ง

และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไมค์ เพนซ์ กล่าวว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือ เพนตากอน กำลังเดินหน้าเรื่องการจัดตั้ง "กองทัพอวกาศ" ภายในปี ค.ศ. 2020 เพื่อรองรับภัยคุกคามด้านอวกาศ ซึ่งรองประธานาธิบดีเพนซ์เรียกว่าเป็น 'สนามรบใหม่'

(ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงรายงานจาก Reuters)