Your browser doesn’t support HTML5
กลุ่มผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนแสดงความยินดีที่ได้เห็นความสนใจมากขึ้นของรัฐบาลสหรัฐฯ ในเรื่องการปฎิบัติของจีนต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ในมณฑลซินเจียงและต่อชาวทิเบต
โดยในช่วงปลายปี 2021 ได้มีการออกกฏหมาย มีการใช้มาตรการคว่ำบาตรเพื่อลงโทษทางเศรษฐกิจ และมีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ให้เป็นผู้ประสานงานพิเศษของสหรัฐฯ เกี่ยวกับเรื่องทิเบต เป็นต้น
ในช่วงเวลาราว 50 ปีที่ผ่านมานี้ทั้งชาวมุสลิมอุยกูร์ในมณฑลซินเจียงและคนเชื้อสายทิเบตในเขตเทือกเขาหิมาลัยของจีนมีความขัดแย้งกับรัฐบาลปักกิ่งเกี่ยวกับเสรีภาพของการนับถือศาสนาและการแสดงออกซึ่งวัฒนธรรมพื้นเมืองของตน
โดยรัฐบาลของหลายประเทศรวมทั้งกลุ่มด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวว่ารัฐบาลจีนได้ส่งชาวมุสลิมอุยกูร์กว่า 1 ล้านคนเข้าค่ายกักกัน แต่ปักกิ่งเรียกค่ายดังกล่าวนี้ว่า ”ศูนย์ฝึกอบรมด้านวิชาชีพ” ที่มีขึ้นเพื่อช่วยยับยั้งการแพร่ขยายแนวคิดทางศาสนาแบบสุดโต่งและป้องกันการโจมตีของผู้ก่อการร้าย
ส่วนในทิเบตซึ่งเป็นดินแดนที่จีนเข้ายึดครองเมื่อราว 70 ปีที่แล้วนั้นรัฐบาลปักกิ่งได้เพิ่มการควบคุมการปฎิบัติของชาวพุทธและเพิ่มการสอนภาษาจีนในหลักสูตรแต่ไม่รวมถึงภาษาทิเบต
คุณ Dilxat Raxit โฆษกขององค์การสำหรับชาวอุยกูร์นอกประเทศตั้งข้อสังเกตว่าการที่สหรัฐฯ ให้ความสนใจกับเรื่องวิกฤตด้านมนุษยธรรมในมณฑลซินเจียงนั้นเป็นเรื่องที่อยู่ในผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ เองและสอดคล้องกับค่านิยมรวมทั้งประเพณีปฏิบัติของสหรัฐฯ ซึ่งมักจะ เริ่มทำอะไรบางอย่างเมื่อเกิดอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและการสังหารล้างผลาญเผ่าพันธ์ุ และว่าอเมริกาก็เหมือนกับประเทศเสรีประชาธิปไตยอื่นๆ ของโลกที่ได้ประกาศให้คำมั่นว่าจะไม่ยอมปล่อยให้ชนกลุ่มน้อยทางศาสนาหรือกลุ่มชาติพันธ์ุใดๆ ต้องตกเป็นเหยื่อของการประหัตประหารเหมือนเช่นกรณี Holocaust หรือการเข่นฆ่าชาวยิวนับล้านคนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นต้น
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ประธานาธิบดีไบเดนลงนามในกฎหมายชื่อ Uyghur Forced Labor Prevention Act ซึ่งได้รับความสนับสนุนจากทั้งสองพรรคในสภา โดยเจตนาของกฎหมายฉบับนี้คือเพื่อทำให้แน่ใจว่าสินค้าที่ทำขึ้นด้วยการบังคับใช้แรงงานในมณฑลซินเจียงของจีนนั้นจะไม่สามารถส่งเข้าไปขายในตลาดของสหรัฐฯ ได้ และประธานาธิบดีไบเดนยังได้ระบุเรื่องการปฎิบัติของรัฐบาลจีนต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ว่าเป็นเหตุผลหนึ่งของการคว่ำบาตรทางการทูตสำหรับการจัดกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวซึ่งจีนจะเป็นเจ้าภาพในเดือนกุมภาพันธ์นี้ด้วย
นอกจากนั้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคมปีที่แล้ว นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ได้มอบหมายให้รองรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ Uzra Zeya ซึ่งเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ดำรงตำแหน่งผู้ประสานงานพิเศษของสหรัฐฯ เกี่ยวกับปัญหาทิเบตควบคู่ไปพร้อมกันด้วย
คุณ Pema Doma ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ขององค์การชื่อ Students for a Free Tibet ได้กล่าวยกย่องการรณณรงค์สื่อสารและความกดดันจากกลุ่มสนับสนุนชาวทิเบตว่าเป็นเหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้รัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนหันมาสนใจปัญหาของชาวทิเบตและชาวมุสลิมอุยกูร์ในมณฑลซินเจียงมากขึ้น ทั้งยังเรียกร้องให้ประธานาธิบดีไบเดนต่อต้านความพยายามของจีนที่จะดูดกลืนวัฒนธรรมของชาวทิเบตและชาวมุสลิมอุยกูร์ให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีนด้วย
ในส่วนของจีนเองนั้นเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนบอกปัดมาตรการต่างๆของสหรัฐฯ ว่าเป็นการก้าวก่ายกิจการภายในของจีน และสำนักข่าวซินหัวของจีนได้ตำหนิกฎหมายฉบับใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อการบังคับใช้แรงงานในมณฑลซินเจียงว่าเต็มไปด้วยเรื่องโกหก ทั้งยังระบุว่าเรื่องนี้เป็นความพยายามอย่างสิ้นหวังอีกครั้งของสหรัฐฯ ที่จะเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงกิจการภายในของจีนผ่านการใช้เขตอำนาจจากนอกพื้นที่
ที่มา: VOA