เจ้าหน้าที่อาวุโสในกระทรวงกลาโหมสองราย กล่าวกับรอยเตอร์ว่ากองทัพเรือสหรัฐฯ เดินหน้าแผนการติดระบบสกัดการโจมตีทางอากาศแพทริออต (Patriot) ให้เรือบางลำ เพราะกลัวว่าจีนจะใช้อาวุธความเร็วเหนือเสียงจมเรือในมหาสมุทรแปซิฟิก
เจ้าหน้าที่ในอุตสาหกรรมอาวุธกล่าวว่า การติดระบบแพทริออตที่เสริมศักยภาพ ที่เรียกว่า PAC-3 MSE หรือ Patriot Advanced Capability - 3 Missile Segment Enhancement ที่เดิมทีใช้กันภายในกองทัพบกสหรัฐฯ เป็นหลัก จะทำให้ทัพเรืออเมริกันสามารถรับมือขีปนาวุธจากจีนที่มีความก้าวหน้าได้ รวมถึงอาวุธความเร็วเหนือเสียง หรือไฮเปอร์โซนิก
แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมอาวุธหลายรายกล่าวกับรอยเตอร์ว่า สหรัฐฯ กำลังติดต่อกับพันธมิตรสำคัญอย่างญี่ปุ่น เพื่อใช้เป็นสถานที่ผลิตจรวดแพทริออตร่วมกัน ส่วนบริษัทล็อคฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ผู้ผลิตระบบแพทริออต ก็ต้องการหาฐานผลิตระบบตรวจจับขีปนาวุธใหม่ในรัฐฟลอริดา โดยหวังร่วมกับผู้ผลิตชิ้นส่วนนี้อย่างบริษัทโบอิ้ง
อย่างไรก็ตาม การผลิตเพิ่มเติมจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากกองทัพบกสหรัฐฯ ซึ่งล็อคฮีด มาร์ตินกำลังเสนอแนวคิดนี้อยู่
กองทัพเรือสหรัฐฯ กล่าวถึงแผนติดตั้งระบบป้องกันดังกล่าวว่า ยังคงต้องทำการทดสอบมากกว่านี้เพื่อพัฒนาปรับปรุงแผนงาน รวมถึงการลองยิง PAC-3 จากเรือ และการทดลองสื่อสารด้วยระบบเรดาร์ SPY-1 อุปกรณ์ตรวจจับที่เป็นหัวใจหลักของระบบจรวดเอจิส (Aegis)
ความเคลื่อนไหวของกองทัพเรืออเมริกัน เกิดขึ้นหลังกองทัพสหรัฐฯ เริ่มติดอาวุธและจัดทำยุทธศาสตร์ใหม่สำหรับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ทั้งเพื่อป้องปรามจีนไม่ให้จุดชนวนความขัดแย้ง และหากเกิดความขัดแย้งขึ้นจริง สหรัฐฯ จะต้องเป็นผู้ชนะ
ขีปนาวุธร่อนความเร็วเหนือเสียง DF-27 คืออาวุธทำลายเรือที่จีนทำขึ้นมาได้ดีที่สุด และสามารถบังคับควบคุมให้พุ่งเข้าหาเป้าหมายที่ต้องการได้ โดยเพิ่งมีการทดสอบไปเมื่อปี 2023 ซึ่งในปีดังกล่าว รายงานด้านการทหารของจีนที่จัดทำโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยังบอกว่า DF-27 นั้นยังอยู่ในขั้น “กำลังพัฒนา”
แม้ PAC-3 จะมีพิสัยการยิงสั้นกว่าระบบขีปนาวุธ SM-6 ของกองทัพเรือสหรัฐฯ แต่ก็มีความว่องไวและสามารถทำลายเป้าหมายได้ดีกว่า อ้างอิงตามข้อมูลของหัวหน้าโครงการป้องกันขีปนาวุธที่มีข้อมูลเรื่องระบบเอจิสที่ขอไม่เปิดเผยชื่อ เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตในการให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน
PAC-3 เป็นระบบที่กองทัพบกสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรใช้ในการป้องกันพื้นที่บนแผ่นดินเป็นหลัก เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีการทดสอบในเรือเสมือนจริง แต่ยังไม่เคยทำการทดลองบนเรือรบ
ทั้งนี้ ข่าวคราวการสกัดกั้นภัยทางอากาศโดยแพทริออตในตะวันออกกลางและในสมรภูมิยูเครน ที่สามารถทำลายขีปนาวุธคินซาลของรัสเซียได้ ทำให้กองทัพเรืออเมริกันสนใจระบบนี้ขึ้นมา ตามการรายงานของรอยเตอร์ที่อ้างจากเจ้าหน้าที่กลาโหมที่มีข้อมูล
ทอม คาราโค ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันขีปนาวุธจากศูนย์ Center for Strategic and International Studies กรุงวอชิงตัน กล่าวว่า ในภาพรวม ความต้องการระบบจรวดนี้ ที่ผลิตโดยบริษัทล็อคฮีด มาร์ตินของสหรัฐฯ นั้นสูง “ทะลุหลังคา”
แม้คาราโคไม่ทราบว่ากองทัพเรือสหรัฐฯ มีความต้องการระบบนี้เป็นจำนวนเท่าใด แต่คิดว่ากองทัพบกสหรัฐฯ คงต้องการเพิ่มจำนวนการผลิตเป็นสองเท่า สืบเนื่องจากกระแสความสนใจจากรัฐบาลหลายประเทศ
- ที่มา: รอยเตอร์