Your browser doesn’t support HTML5
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยกเลิกแผนการเยือนกรุงเปียงยางของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ อย่างกะทันหัน สะท้อนถึงความวิตกกังวลที่เพิ่มมากขึ้นของสหรัฐฯ เกี่ยวกับความไม่เต็มใจของเกาหลีเหนือที่จะลดอาวุธนิวเคลียร์
โดยประธานาธิบดีทรัมป์ให้เหตุผลสำหรับการยกเลิกการเยือนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งจะนับเป็นครั้งที่สองหลังการประชุมสุดยอดที่สิงคโปร์ว่า เป็นเพราะไม่มีความคืบหน้าในการเจรจา
แต่นายคริสโตเฟอร์ ฮิลล์ อดีตหัวหน้าคณะผู้เจรจาเรื่องเกาหลีเหนือสมัยประธานาธิบดีบุช ชี้ว่า ตนไม่คิดว่าเกาหลีเหนือพร้อมจะทำในสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการ คือการประกาศเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ในคลังแสง หรือส่งสัญญาณอย่างเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับความคืบหน้าของการลดอาวุธ
ขณะนี้เชื่อกันว่า เกาหลีเหนือต้องการให้มีคำประกาศยุติสงครามเกาหลีก่อนที่จะเดินหน้าเพื่อลดอาวุธนิวเคลียร์ แต่สหรัฐฯ ต้องการให้เกาหลีเหนือลดอาวุธก่อนจะลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพอย่างเป็นทางการ
ตั้งแต่ปี 2496 เป็นต้นมา มีเพียงข้อตกลงหยุดยิงซึ่งลงนามโดยจีน เกาหลีเหนือ และสหประชาชาติ เท่านั้น ที่ยุติการสู้รบและตั้งเขตปลอดทหารขึ้นตามแนวพรมแดนเกาหลีเหนือและใต้
สื่อมวลชนของสหรัฐฯ รายงานว่า ประธานาธิบดีทรัมป์มีคำสั่งให้ยกเลิกการเยือนเปียงยางโดยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ หลังจากได้รับจดหมายซึ่งมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์จากเกาหลีเหนือว่า เปียงยางไม่สามารถเดินหน้าในกระบวนการลดอาวุธนิวเคลียร์ได้ เพราะสหรัฐฯ ไม่พร้อมดำเนินการในเรื่องสนธิสัญญาสันติภาพเช่นกัน
ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นให้ความเห็นว่า การเจรจาที่ชะงักงัน มาจากความคาดหวังที่แตกต่างกันระหว่างวอชิงตันกับเปียงยาง เรื่องกระบวนการลดอาวุธนิวเคลียร์
คือขณะที่เกาหลีเหนือจะไม่ยอมผ่อนปรนในข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสนธิสัญญาสันติภาพ ก่อนที่จะดำเนินการต่อไป ก็ไม่เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลสหรัฐฯ พร้อมจะทำสนธิสัญญาสันติภาพกับเกาหลีเหนือหรือมีข้อเสนอใหม่ใดๆ
และขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวอ้างว่า จีนไม่ให้ความช่วยเหลือเรื่องการลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ จากข้อพิพาทด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนนั้น นายคริสโตเฟอร์ ฮิลล์ อดีตนักการทูตมือเอเชียของสหรัฐฯ คิดว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับท่าทีของจีน และว่าสหรัฐฯ ควรเน้นเรื่องการใช้ความกดดันเพื่อให้สามารถใช้มาตรการลงโทษต่อเกาหลีเหนือได้อย่างเต็มที่มากกว่า และระบุด้วยว่า สหรัฐฯ เสียอำนาจต่อรองไปมากหลังการประชุมสุดยอดที่สิงคโปร์
ส่วนนักวิเคราะห์อีกคนหนึ่งจากศูนย์วิเคราะห์การทหารเรือของสหรัฐฯ ก็เชื่อว่า ช่องว่างด้านการบังคับใช้มาตรการลงโทษที่มีอยู่จะทำให้นโยบายกดดันอย่างเต็มที่ของประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะเรื่องการลดอาวุธนิวเคลียร์ไม่ใช่สิ่งที่จีนให้ความสำคัญลำดับแรก ดังนั้นจึงไม่ควรคาดหวังว่าจีนจะเข้าช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้