สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ร่วมโต๊ะหารือประเด็นนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ

The Academy of National Defense Science conducts long-range cruise missile tests in North Korea, as pictured in this combination of undated photos supplied by North Korea's Korean Central News Agency (KCNA) on Sept. 13, 2021.

คณะผู้แทนพิเศษจากสหรัฐฯ และเกาหลีใต้เดินทางเข้าร่วมประชุมกับตัวแทนจากญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว ในวันอังคาร เพื่อหารือกรณีโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ หลังรัฐบาลกรุงเปียงยางทำการทดสอบยิงขีปนาวุธไปเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

รายงานข่าวระบุว่า ซัง คิม ผู้แทนพิเศษสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเกาหลีเหนือ และ โนห์ คยู-ดุค ผู้แทนพิเศษจากเกาหลีใต้ ฝ่ายกิจการด้านความมั่นคงและสันติภาพคาบสมุทรเกาหลี เข้าร่วมประชุมกับ ทาเคฮิโร ฟูนาโคชิ อธิบดีกรมกิจการด้านเอเชียและโอเชียเนียของญี่ปุ่น เผื่อถกหนทางจัดกับการสถานการณ์ล่าสุดในเกาหลีเหนือ

เมื่อวันเสาร์และวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สื่อทางการของเกาหลีเหนือรายงานว่า กองทัพได้ทำการทดสอบ “จรวดขีปนาวุธพิสัยไกลที่เพิ่งพัฒนาขึ้นมาใหม่” โดยขีปนาวุธดังกล่าวมีความสามารถในการบินในระดับความสูงที่ค่อนข้างต่ำและมีระบบนำทางในตัว ซึ่งทำให้หลุดรอดจากการตรวจจับของเรดาร์ได้

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ขีปนาวุธใหม่ของเกาหลีเหนือดูคล้ายกับขีปนาวุธ "โทมาฮอว์ก" ของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งสามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้และมีพิสัยทำการ 1,600 กิโลเมตร ขณะที่ ทางเกาหลีเหนือส่งสัญญาณว่า ขีปนาวุธใหม่ของตนนั้นสามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้ แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าเกาหลีเหนือมีหัวรบขนาดเล็กพอที่จะใช้ติดตั้งได้จริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม การทดสอบอาวุธใหม่ของเกาหลีเหนือครั้งล่าสุดเป็นการเปิดตัวอาวุธร้ายแรงชิ้นใหม่ของกรุงเปียงยาง ซึ่งเดินหน้าขยายสรรพกำลังกองทัพอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2019

ในส่วนของการประชุมที่กรุงโตเกียวนั้น ผู้แทนพิเศษจากทั้งสามประเทศได้ร่วมกันตอบคำถามผู้สื่อข่าวก่อนจะเริ่มหารือประเด็นต่างๆ โดย ซัง คิม ผู้แทนพิเศษสหรัฐฯ ระบุว่า สถานการณ์ล่าสุดในเกาหลีเหนือเป็นการเตือนให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของการติดต่อสื่อสารและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ โนห์ คยู-ดุค ผู้แทนพิเศษจากเกาหลีใต้ กล่าวเสริมว่า การที่ตัวแทนทั้งสามประเทศสามารถร่วมหารือวิธี “จัดการกับเกาหลีเหนือ โดยอ้างอิงถึงความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับความเร่งด่วนในการปลดอาวุธนิวเคลียร์” ถือเป็นเรื่องที่ดี

ที่ผ่านมา ซัง คิม พยายามยืนยันมาตลอดว่า รัฐบาลกรุงวอชิงตันยังคงยินดีที่จะใช้ช่องทางทางการทูตเพื่อจัดการกับกรณีของเกาหลีเหนือ แม้รัฐบาลกรุงเปียงยางจะปฏิเสธท่าทีดังกล่าวเสมอมา โดยอ้างว่า สหรัฐฯ ไม่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพื่อให้ตนเกิดความมั่นใจ เพราะยังคงดำเนินมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และเดินหน้าทำการซ้อมรบร่วมกับเกาหลีใต้เป็นประจำ

(ข้อมูลบางส่วนมาจากสำนักข่าว เอพี – รอยเตอร์ – เอเอฟพี)