สหรัฐฯ เร่งอินเดียตัดขั้นตอนราชการในการซื้อ 'โดรนอเมริกัน' ก่อนโมดีพบไบเดน

Biden Modi

รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ กำลังเร่งเร้าให้อินเดียเดินหน้าโครงการซื้อโดรนอเมริกันหลายสิบลำ​ ตามรายงานของรอยเตอร์ ที่อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวสองรายที่ทราบความเป็นไปของแผนดังกล่าว

ที่ผ่านมารัฐบาลนิวเดลีเเสดงความสนใจซื้อโดรนติดอาวุธ ซีการ์เดียน (SeaGuardian) จากสหรัฐฯ แต่ติดขัดเรื่องขั้นตอนราชการของอินเดีย

รอยเตอร์รายงานว่ามูลค่าอาวุธของโครงการนี้น่าจะอยู่ที่ 2 พันล้าน ถึง 3 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงหลายปีจากนี้

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดียมีกำหนดเยือนกรุงวอชิงตันอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 มิ.ย. ซึ่งตัวเเทนฝ่ายเจรจาของรัฐบาลอเมริกันต้องการใช้โอกาสนี้คลี่คลายข้อติดขัดทางราชการที่เกิดขึ้น

เจ้าหน้าที่ฝ่ายสหรัฐฯ จากกระทรวงต่างประเทศ กลาโหมและจากคณะทำงานของทำเนียบขาวได้ขอให้อินเดียแสดงความคืบหน้าใด ๆ ที่เกิดขึ้นในโครงการซื้อโดรน ซีการ์เดียน รุ่นเอ็มคิว-9 บี จำนวนสูงสุด 30 เครื่อง ของบริษัทเจนเนอรัล อะตอมิกส์ (General Atomics) ตามรายงานของรอยเตอร์

ในการพบกันของผู้นำทั้งสอง แหล่งข่าวของรอยเตอร์กล่าวด้วยว่า โมดีและไบเดนน่าจะหารือกันเกี่ยวกับการร่วมผลิตอาวุธและพาหนะหุ้มเกราะลำเลียงพล

โฆษกของทำเนียบขาว กระทรวงต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้

FILE PHOTO: India's Prime Minister Modi speaks with the media inside the parliament premises on the first day of the budget session in New Delhi

ทั้งนี้ประธานาธิบดีไบเดนได้สร้างความสัมพันธ์ที่เเนบเเน่นขึ้นกับอินเดียเพื่อคานอิทธิพลของจีน ทั้งยังกำหนดให้ความร่วมมือกันเรื่องเทคโนโลยีกลาโหม เป็นเรื่องสำคัญของสหรัฐฯ และอินเดียซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก แม้ว่าทั้งคู่ไม่ได้เป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการทางทหารก็ตาม

นโยบายของอินเดียในการเป็นประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในความความขัดเเย้งของมหาอำนาจ เคยสร้างความไม่พอใจต่อสหรัฐฯ จากที่รัฐบาลนิวเดลีรักษาความสัมพันธ์ทางทหารและเศรษฐกิจกับรัสเซียหลังจากที่รัสเซียบุกยูเครน

สำหรับประเด็นโครงการซื้อโดรนจากสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วกระทรวงกลาโหมอินเดียยังไม่ตัดสินใจว่าจะซื้อทั้งหมดกี่ลำ

รอยเตอร์อ้างแหล่งข่าวรายหนึ่งที่กล่าวว่าเคยมีการพิจารณาซื้อทั้งหมด 30 ก่อนที่จะลดลงเหลือ 24 และ 18 ในเวลาต่อมา

อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจสร้างความยุ่งยากให้โครงการนี้คือความตั้งใจของอินเดียที่จะให้ส่วนประกอบบางชิ้นของโดรนเป็นอะไหล่ที่ผลิตในอินเดีย

  • ที่มา: รอยเตอร์