กลุ่มผู้ชุมนุมหลายพันคนรวมตัวบริเวณใกล้ทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน ในวันอาทิตย์ ตามเวลาสหรัฐฯ เพื่อประท้วงการประกาศใช้คำสั่งพิเศษของฝ่ายบริหารโดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่สั่งห้ามคนเข้าเมืองจาก 7 ประเทศมุสลิม คือ อิหร่าน อิรัก ซีเรีย ซูดาน ลิเบีย โซมาเลีย และเยเมน ไม่ให้เข้าสหรัฐฯเป็นเวลาอย่างน้อย 90 วัน และปฏิเสธกับรับผู้อพยพจากซีเรียเป็นเวลา 120 วัน ที่มีผลบังคับใช้เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
กลุ่มผู้ประท้วงรวมตัวเขียนป้าย ตะโกนเรียกร้อง "No hate, no fear, refugees are welcom here" เพื่อประท้วงต่อต้านคำสั่งดังกล่าวของนายโดนัลด์ ทรัมป์
เช่นเดียวกับที่นครนิวยอร์กบริเวณ แบทเทอรี พาร์ค ทางตอนใต้ของเกาะแมนฮัตตัน ซึ่งเป็นจุดท่าเรือข้ามฟากไปยังอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ ก็มีผู้ชุนนุมไปรวมตัวประท้วงเช่นกัน ซึ่งอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพเปรียบเหมือนสัญลักษณ์แสดงการต้อนรับผู้อพยพเข้าประเทศจากหลายประเทศทั่วโลกมายาวนานเป็นเวลากว่า 140 ปี
นอกจากนี้ยังมีการประท้วงในอีกหลายเมืองทั่วสหรัฐฯ เช่นนครลอส แองเจลิส ฟิลลาเดลเฟีย ฮิวสตัน บอสตัน แอตแลนต้า หลุยส์วิลล์ และดีทรอยส์
ก่อนหน้านี้นายโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวปกป้องคำสั่งดังกล่าวว่า การห้ามคนเข้าเมืองจาก 7ประเทศนั้นไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ก่อการ้ายและความพยายามทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกามีความปลอดภัย นอกจากนี้ยังกล่าวว่า รายชื่อประเทศที่เขาออกคำสั่งห้ามนั้น มาจากข้อมูลที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่ระบุว่าประเทศเหล่านั้นเป็นแหล่งที่มาของผู้ก่อการร้าย
นอกจากนี้ยังได้ทวีตผ่านทวีตเตอร์ส่วนตัวในวันอาทิตย์ (29 ม.ค.) ว่า สหรัฐฯ ต้องการปกป้องที่พรมแดนอย่างเข้มแข็ง และต้องมีการคัดกรองที่เข้มงวดสำหรับผู้ที่จะเดินทางเข้าสหรัฐฯ
ด้านสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยองค์การสหประชาชาติ และหลายหน่วยงานของสหประชาชาติ กล่าวแสดงความเห็นว่ากลุ่มผู้ลี้ภัยต่างๆรวมทั้งชาวซีเรียนั้นไม่ได้เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของสหรัฐฯ ตามที่ประธานาธิบดี ทรัมป์ กล่าวอ้างในคำสั่งพิเศษของฝ่ายบริหาร โดยได้เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ พิจารณาทบทวนคำสั่งห้ามคนเข้าเมืองที่จะเดินทางเข้าสหรัฐใหม่
โฆษก สนง.สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยองค์การสหประชาชาติ หรือ HNHCR กล่าวว่า ไม่มีเหตุผลที่สมควรในคำกล่าวอ้างของ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าผู้ลี้ภัยจากซีเรียเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ ผู้ลี้ภัยนั้นล้วนเป็นเหยื่อหรือผู้รับเคราะห์จากผู้ก่อการร้ายและกระบวนการตั้งถิ่นฐานใหม่นั้นเป็นความหวังสำหรับกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการถูกคุกคามมากที่สุดในโลกเหล่านี้ ซึ่งประกอบไปด้วย สตรี เด็ก คนพิการ รวมทั้งผู้ที่ต้องการการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน
โฆษก HNHCR กล่าวว่า กระบวนการคัดกรองผู้ลี้ภัยเป็นไปอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ ก่อนที่จะรับการอนุมัตไปตั้งถิ่นฐานในสหรัฐฯ และโดยปกติสหรัฐฯก็จะเป็นผู้ตัดสินใจรับผู้ลี้ภัยรายใดเข้าไปตั้งถิ่นฐานซึ่งกระบวนการดังกล่าวอาจใช้เวลามากกว่า 2 ปี โดยจะเป็นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ ถึง 8 หน่วยงาน บนฐานข้อมูลมากกว่า 6 ฐานข้อมูล นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบประวัติผู้ลี้ภัยในกระบวนการที่แยกจากกันมากถึง 5 ครั้ง