นักวิจัยในสหรัฐทดลองใช้เซลเม็ดเลือดตัดแต่งพันธุกรรมรักษาผู้ป่วยลิวคีเมียได้ผลสำเร็จ

  • Vidushi Sinha
    ทักษิณา ข่ายแก้ว

นักวิจัยในสหรัฐทดลองใช้เซลเม็ดเลือดตัดแต่งพันธุกรรมรักษาผู้ป่วยลิวคีเมียได้ผลสำเร็จ

ทีมนักวิจัยในสหรัฐ แถลงเมื่อเร็วๆนี้ว่าสามารถรักษาโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาวได้สำเร็จโดยการฉีดเซลเม็ดเลือดตัดแต่งพันธุกรรมให้กับผู้ป่วย เซลเม็ดเลือดตกแต่งพันธุกรรมนี้ทำหน้าที่ไปทำลายเซลมะเร็งในร่างกายผู้ป่วย ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์เรียกผลการรักษานี้ว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญทางการแพทย์

ทีมนักวิจัยในสหรัฐแถลงเมื่อเร็วๆนี้ว่าสามารถรักษาโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาวได้สำเร็จโดยการฉีดเซลเม็ดเลือดตัดแต่งพันธุกรรมให้กับผู้ป่วย เซลเม็ดเลือดตัดแต่งพันธุกรรมนี้ทำหน้าที่ทำลายเซลมะเร็งในร่างกายผู้ป่วย ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์เรียกผลการรักษานี้ว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญทางการแพทย์

ทีมหมอและนักวิจัยทางการแพทย์ ศูนย์มะเร็งเอ็บเบร็มสัน มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียในสหรัฐ ใช้เวลาตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมาพัฒนาเทคนิคทางการแพทย์ชั้นเยี่ยมสามารถดึงเอาเซลเม็ดเลือดจากผู้ป่วยโรคลิวคีเมียชนิดเรื้อรังออกมาตกแต่งพันธุกรรมแล้วฉีดกลับเข้าไปตัวผู้ป่วยเพื่อไปฆ่าเซลมะเร็ง

ทีมนักวิจัยเรียกเซลเม็ดเลือดที่ดึงออกมาจากตัวผู้ป่วยว่า ทีเซล พอตัดแต่งพันธุกรรมเซลเสร็จแล้วก็ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า เซลนักฆ่ามะเร็งแบบต่อเนื่องเพราะมีลักษณะพิเศษที่จะไปตามล่าหาเซลมะเร็งในร่างกายผู้ป่วยแล้วจัดการทำลายเซลมะเร็งอย่างต่อเนื่อง

ด็อกเตอร์ คาร์ล จูน ผู้ร่างรายงานการทดลองอาวุโส กล่าวว่า การทดลองรักษาได้ผลเกินความคาดคิด ผู้ป่วยทั้งสามคนที่ได้รับเซลบำบัดตกแต่งพันธุกรรมมีอาการตอบสนองในทางบวก เซลมะเร็งลิวคีเมียในร่างกายถูกทำลายไปจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าววอยออฟอเมริกา รายงานว่า ผู้ป่วยทั้งสามคนที่เข้ารับการทดลองรักษาป่วยด้วยโรคลิวคีเมียในระยะอันตรายและเหลือหนทางรักษาน้อย

ทีมนักวิจัยทางการแพทย์มหาวิทยาลัยเพ็นซิลเวเนีย บอกว่า นี่เป็นความสำเร็จครั้งแรกในการทดลองกับคนที่เซลเม็ดเลือดตัดแต่งพันธุกรรม หรือ ทีเซล อยู่รอดหลังจากฉีดเข้าไปในร่างกายผู้ป่วย สามารถไปทำลายเซลมะเร็งและทำลายอย่างต่อเนื่องแม้จะผ่านไปหกเดือนหลังได้รับทีเซลบำบัดก็ตาม

คุณบรูซ เล็ฟไวน์ ผู้ร่วมเขียนรายงานทดลองการรักษาครั้งนี้ กล่าวถึงความแตกต่างการรักษาด้วยทีเซลกับการรักษาที่ใช้กันในปัจจุบันว่า เขาบอกว่า การรักษาด้วยเซลตัดแต่งพันธุกรรมต่างกับการปลูกถ่ายไขกระดูกและเคมีบำบัดที่ว่าไม่ต้องให้้ซ้ำ้แล้วซ้ำอีก ผู้ป่วยจะรับทีเซลเพียงครั้งเดียวคล้ายๆกับการกินยาที่กินเข้าไปแล้วไปทำลายเชื้อโรค แต่ยาที่ว่านี้เป็นเซลตัดแต่งพันธุกรรมที่ไปแบ่งตัวในร่างกายแล้วคอยติดตามทำลายเซลมะเร็งลิวคีเมียไปเรื่อยๆ

ทางศูนย์มะเร็งแห่งอเมริกา ยกย่องว่า การทดลองรักษาลิวคีเมียด้วยเซลมะเร็งตัดแต่งพันธุกรรมนี้สร้างความตื่นเต้นแก่วงการรักษามะเร็ง แต่ได้เตือนว่าจะต้องมีการทดลองรักษาอีกหลายๆครั้งเพื่อยืนยันว่าทีเซลรักษาลิวคีเมียได้จริงๆ

ด้อกเตอร์ เล็น ลีเช็ทเท็นเฟ็ลด์ จากศูนย์มะเร็งแห่งอเมริกา กล่าวว่า เซลเม็ดเลือดตัดแต่งพันธุกรรมอาจจะมีคุณ แต่อาจจะมีโทษด้วยเช่นกัน จำเป็นมากที่ผู้เกี่ยวข้องควรศึกษาให้ถ่องแท้ก่อนใช้รักษากับผู้ป่วยทั่วไปที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง

ผู้สื่อข่าววอยออฟอเมริกา รายงานว่า ขณะนี้ผู้ป่วยสองในสามคนที่เข้าร่วมทดลองรักษาด้วยทีเซลอาการดีขึ้นจนอยู่ในระดับปลอดมะเร็งแล้ว ส่วนผู้ป่วยรายที่สามยังมีเซลมะเร็งเหลืออยู่บ้างแต่อาการดีขึ้นเรื่อยๆ

การรักษาด้วยเซลตัดแต่งพันธุกรรมในผู้ป่วยลิวคีเมียเรื้องรัง มีผลข้างเคียงหลายอย่าง อาทิ มีไข้สูง ไปรบกวนการทำงานของหัวใจ และเกิดอาการหายใจหอบ ในขณะนี้ ทีมนักวิจัยกำลังติดตามดูอาการของผู้ป่วยทั้งสามคนในการทดลองรักษาว่าโรคเข้าสู่ระยะสงบนานแค่ไหน