กลุ่มต่อต้านปืนในสหรัฐฯ เร่งเร้ารัฐบาลควบคุมอาวุธปืนให้เข้มงวดเหมือนชาติพัฒนาแล้วอื่นๆ

  • Smita Nordwell

The Gun Gulf

เหตุยิงหมู่ในมัธยมที่ฟลอริด้า ทำให้การแก้ไขกฏหมายควบคุมอาวุธปืนให้เข้มงวดกลายเป็นประเด็นร้อนรอบใหม่

Your browser doesn’t support HTML5

กลุ่มคัดค้านปืนในสหรัฐฯ เร่งเร้าให้รัฐบาลควบคุมอาวุธปืนให้เข้มงวดเหมือนชาติพัฒนาแล้วอื่นๆ

เหตุการณ์ยิงสังหารหมู่ในโรงเรียนมัธยม มาร์จอรี่ สโตนแมน ดักลาส ที่รัฐฟลอริด้า มีคนเสียชีวิต 17 คน เป็นเหตุให้เกิดการถกเถียงกันรอบใหม่ถึงการควบคุมอาวุธปืนในสหรัฐฯ

บรรดาผู้เรียกร้องให้มีการควบคุมอาวุธปืนให้เข้มงวดมากขึ้นชี้ว่า มาตรการนี้จะช่วยลดความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนในสหรัฐฯ ลง อย่างที่เห็นในประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ เช่น แคนาดา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

ในสหรัฐฯ สิทธิ์ในการครอบครองอาวุธปืนระบุในบทแก้ไขรัฐธรรมนูญบทที่สองหรือ Second Amendment ที่ระบุว่า

“กลุ่มติดอาวุธที่ได้รับการควบคุมอย่างดี มีความจำเป็นต่อความมั่นคงของรัฐอิสระ ดังนั้นสิทธิ์ในการครอบครองเเละติดอาวุธปืนของประชาชนจึงไม่ควรถูกละเมิด”

กลุ่มคนที่สนับสนุนการครอบครองอาวุธปืนมองว่า การมีอาวุธปืนเป็นสิทธิ์โดยกำเนิดเ เละเป็นส่วนสำคัญของความเป็นอเมริกันชน กฏหมายรัฐบาลกลางจะระบุกฏระเบียบพื้นฐานเกี่ยวกับการควบคุมอาวุธปืน เเต่รัฐและเมืองต่างๆ สามารถบังคับใช้การควบคุมอาวุธปืนในระดับพื้นที่ได้

ในแคนาดา ก็เหมือนกับในสหรัฐฯ ที่มีกฏหมายควบคุมอาวุธปืนของรัฐบาลกลาง ที่มีกฏหมายระดับจังหวัด ดินแดนหรือเทศบาลเข้ามาเสริม

กฏหมายกำหนดให้ผู้ครอบครองอาวุธปืนทุกคนในแคนาดาต้องมีอายุเกิน 18 ปีขึ้นไป มีใบอนุญาตครอบครองปืนที่มีการตรวจสอบประวัติ เเละต้องผ่านการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยสาธารณะ

ปืนทุกชนิดถูกจัดออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ อาวุธประเภทไม่ถูกควบคุม อาวุธประเภทควบคุม เเละอาวุธที่ห้ามครอบครอง ปืนยาวธรรมดาเเละปืนลูกซองถือว่าอยู่ในประเภทอาวุธที่ไม่ถูกควบคุม ส่วนปืนพก ปืนยาวกึ่งอัตโนมัติ และปืนสั้น รวมทั้งปืนยาวลำกล้องตัดสั้น ถือเป็นอาวุธควบคุม เเละอาวุธปืนอัตโนมัติทุกชนิดถือว่าห้ามครอบครอง

ในออสเตรเลีย หลังจากมีคนถูกยิงสังหารหมู่ 35 คนในทัสเมเนีย ในปี ค.ศ. 1996 หรือเมื่อ 22 ปีที่เเล้ว รัฐบาลกลางของออสเตรเลียได้อนุมัติกฏหมายที่ห้ามการครอบครองปืนอัตโนมัติและกึ่งอัตโนมัติทุกชนิด รวมทั้งยังปรับกฏระเบียบเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตถือปืนเเละการครองครองปืนให้เข้มงวดมากขึ้น

ทางการออสเตรเลียยังมีโครงการซื้อคืนอาวุธปืนที่สามารถซื้อคืนอาวุธปืนจำนวน 650,000 กระบอก ถือเป็นหนึ่งในหกของจำนวนอาวุธปืนในคลังของประเทศทั้งหมด กฏหมายยังกำหนดคนที่ถือในอนุญาตครอบครองปืนเเสดงหลักฐานที่ยืนยันว่ามีความจำเป็นจริงๆ ที่ต้องมีอาวุธปืนชนิดพิเศษ ที่ไม่จัดว่าเป็นอาวุธเพื่อป้องกันตัว เเละต้องเข้ารับการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยทางอาวุธ

บรรดาผู้มีใบอนุญาตยังต้องปฏิบัติตามกฏระเบียบเกี่ยวกับที่เก็บรักษาปืน ซึ่งรวมทั้งการเก็บลูกกระสุนเเยกต่างหากจากอาวุธปืน เเละมีช่วงเวลาการรอนาน 28 วัน

ในอังกฤษ หลังเหตุชายพกปืนบุกยิงสังหารเด็ก 17 คนเเละครูหนึ่งคนในโรงเรียนดันเบลน (Dunblane) ในสก็อตเเลนด์ในปี ค.ศ. 1996 หรือ 22 ปีที่แล้ว ทางการอังกฤษได้ออกกฏหมายควบคุมอาวุธปืนที่เคร่งครัดมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยห้ามประชาชนทั่วไปครอบครองปืนพก

โดยการป้องกันตัวไม่ถือเป็นเหตุผลที่จะมีอาวุธในครอบครองในอังกฤษ

ในญี่ปุ่น ภายใต้กฏหมายควบคุมอาวุธปืนเเละดาบ อาวุธปืนที่อนุญาตให้ครอบครองได้ ได้แก่ ปืนพก ปืนลม เเละปืนที่ใช้ในจุดประสงค์ของการวิจัย หรือใช้เพื่อการอุตสาหกรรมหรือได้มาเพื่อใช้ในการเเข่งขัน

ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้ถืออาวุธพิเศษใดๆ ผู้มีใบอนุญาตต้องเข้ารับการฝึกอบรมและผ่านการทดสอบทางความสามารถด้านการเขียน การทดสอบสุขภาพจิต เเละการใช้สารเสพติดเเละการตรวจสอบประวัติอย่างละเอียดถี่ถ้วน เจ้าของอาวุธปืนยังต้องเเจ้งเเก่เจ้าหน้าที่ทางการด้วยว่า มีการจัดเก็บอาวุธปืนเเละลูกกระสุนอย่างไร เเละต้องนำอาวุธปืนที่ครอบครองไปรับการตรวจสอบรายปี

ในสิงคโปร์ ชาติเอเชียเล็กๆ ที่น่าจะถือเป็นประเทศที่มีกฏหมายควบคุมอาวุธปืนที่เข้มงวดที่สุดในโลกก็ว่าได้ ประชาชนไม่ได้รับอนุญาตให้ครองครอบอาวุธปืนทุกประเภท

หากใครถูกจับได้ว่าแอบมีปืนไว้ครอบครอง จะถูกลงโทษด้วยการโบยด้วยหวาย หากใครถูกจับได้ว่าพยายามใช้อาวุธปืน จะถูกลงโทษประหาร เเละหากใครถูกจับว่ามีอาวุธในครอบครองมากกว่าหนึ่งกระบอก ก็จะถือว่าพยายามลักลอบค้าอาวุธเถื่อน เเละอาจจะถูกประหารชีวิตหรือถูกจำคุกตลอดชีวิต

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)