คะแนนนิยมลดต่ำแต่ราคาน้ำมันพุ่งสูงสร้างปัญหากดดันทางการเมืองสำหรับไบเดน

US Inflation Gas Prices

Your browser doesn’t support HTML5

US Gas Prices Political Poison

ขณะที่คะแนนนิยมสำหรับการทำงานของประธานาธิบดีไบเดนลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบปี คือ 44% ตามการสำรวจของ Reuters/Ipsos นั้น ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในสหรัฐฯ กลับสูงที่สุดในรอบเจ็ดปี และสร้างแรงกดดันให้ผู้นำสหรัฐฯ ต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางการเมือง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพรรคเดโมแครตต้องพยายามรักษาคะแนนเสียงข้างมากในสภาไว้จากการเลือกตั้งกลางสมัยในปีหน้า

เนื่องจากอเมริกาเป็นประเทศที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์มากที่สุดในโลกในขณะนี้จากความนิยมรถยนต์ขนาดใหญ่ การต้องขับรถระยะทางไกล รวมทั้งการขาดระบบขนส่งมวลชนในหลายพื้นที่ของประเทศ และขณะที่ราคาเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยในปัจจุบันตามข้อมูลของสมาคมยานยนต์อเมริกันหรือ AAA อยู่ที่ 3.41 ดอลลาร์ต่อแกลลอนหรือประมาณ 30 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าเมื่อปีที่แล้วคือที่ลิตรละราว 18 บาทถึงเกือบเท่าตัว

ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากความต้องการใช้เชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยต่อบุคคลที่ 5.5 ลิตรต่อวันของคนอเมริกันซึ่งมากกว่าของผู้คนในประเทศใดของโลกแล้ว การที่ราคาน้ำมันสูงในขณะนี้ซึ่งมีผลต่อราคาผู้บริโภคกับภาวะเงินเฟ้อจึงส่งผลต่อคะแนนนิยมในการทำงานของประธานาธิบดีไบเดนอย่างเลี่ยงไม่ได้ด้วย

คำถามก็คือผู้นำฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ สามารถจะทำอะไรได้หรือไม่ในเรื่องราคาน้ำมัน ถ้าย้อนกลับไปดูตั้งแต่ในช่วงปี 1973 - 1974 ที่เกิดวิกฤตเรื่องน้ำมันของโลกจากการที่กลุ่มประเทศโอเปคคว่ำบาตรการขายน้ำมันให้โลกตะวันตกนั้น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลายคนได้พยามควบคุมราคาน้ำมันในประเทศมาแล้วแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จทั้งสิ้น

อย่างเช่นประธานาธิบดีนิกสันได้พยายามสร้างความเป็นอิสระด้านน้ำมันของประเทศโดยไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ หรือเมื่อประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ดเข้ารับตำแหน่งต่อจากนิกสันในช่วงนั้นอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ สูงถึง 12.3% ซึ่งประธานาธิบดีฟอร์ดก็พยายามรณรงค์ให้คนอเมริกันประหยัดน้ำมันด้วยการใช้รถร่วมกันหรือใช้วิธี car pool รวมทั้งให้ลดระดับอุณหภูมิของเครื่องทำความร้อนในบ้านลง

แต่ผลที่ได้คือความล้มเหลวทางการเมืองและทำให้เขาต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งต่อประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ของพรรคเดโมแครตในปี 1976 อย่างไรก็ตามประธานาธิบดีคาร์เตอร์เองก็ไม่รอดพ้นปัญหาการเมืองจากวิกฤตเรื่องราคาน้ำมันเช่นกัน เพราะในปี 1979 เมื่อเกิดการปฏิวัติอิหร่านขึ้นและการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศโอเปคลดลง คนอเมริกันต้องพบกับราคาน้ำมันที่แพงมากรวมทั้งต้องรอเข้าแถวยาวที่สถานีบริการน้ำมัน ซึ่งผลก็คือจิมมี่ คาร์เตอร์ต้องแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีต่อโรนัลด์ เรแกน ผู้สมัครของพรรครีพับลิกันเช่นกัน

ขณะนี้คะแนนนิยมในการทำงานสำหรับประธานาธิบดีไบเดนอยู่ที่ระดับ 44% ซึ่งนับว่าต่ำที่สุดตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง และทำเนียบขาวได้พยายามกดดันโรงกลั่นขนาดใหญ่ให้ผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น ชะลอการควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมด้านพลังงาน และขอให้คณะกรรมการการค้าของสหรัฐฯ หรือ FTC เข้าตรวจสอบเรื่องการกักตุนหรือพฤติกรรมที่ต่อต้านการแข่งขันอย่างเสรี ซึ่งก็ล้วนเป็นเรื่องที่อดีตผู้นำสหรัฐฯ ที่ผ่านมาเคยพยายามทำมาแล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จทั้งสิ้น

อาจารย์ลารี ซาบาโต นักรัฐศาสตร์ของ University of Virginia ตั้งข้อสังเกตว่าคนอเมริกันมักคาดหวังว่าประธานาธิบดีควรจะทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับราคาน้ำมัน แต่โดยแท้จริงแล้วคนอเมริกันควรจะเข้าใจหลักการเรื่องอุปสงค์และอุปทาน

อย่างไรก็ตามอาจารย์ลารี ซาบาโตก็ยอมรับว่าปัญหาเงินเฟ้อนั้นสร้างแรงกดดันทางการเมืองที่มักกัดกร่อนความนิยมในตัวประธานาธิบดีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยคนอเมริกันมักจะให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจและเรื่องปัญหาปากท้องเป็นหลักในการเลือกตั้งทุกครั้ง ดังนั้นตราบใดที่คนอเมริกันยังคงนิยมรถขนาดใหญ่แบบ SUV และยังมีมาตรฐานเรื่องประสิทธิภาพการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ในระดับค่อนข้างต่ำ ปัญหาเรื่องราคาน้ำมันที่สูงแม้จะตามกลไกตลาดก็คงจะยังสร้างปัญหาการเมืองต่อไปได้อีกหลายปี


ที่มา: Reuters