ผู้เชี่ยวชาญเรียกร้องยกระดับการสกัดจีนไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีทางทหารสหรัฐฯ

  • VOA

China unveils its J-20 stealth fighter during an air show in Zhuhai, Guangdong Province, China, Nov. 1, 2016.

ผู้เชี่ยวชาญและอดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาเรียกร้องให้มีการยกระดับความพยายามในการขัดขวางการจารกรรมความลับของจีน ซึ่งหลายคนเชื่อว่า มีส่วนช่วยให้กรุงปักกิ่งใช้เทคโนโลยีของสหรัฐฯ ที่ถูกขโมยมาไปใช้ในการพัฒนาอาวุธล้ำสมัยได้มากมาย

เจมส์ แอนเดอร์สัน อดีตรองรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ฝ่ายนโยบาย กล่าวว่า จีนขโมยเทคโนโลยีทางทหารของสหรัฐฯ ไปเพื่อพัฒนาเครื่องบินรบ เจ-20 และได้ประโยชน์จากปฏิบัติการนี้อย่างมาก

แอนเดอร์สัน ระบุว่า “พวกเขาได้ประโยชน์มากมายจากการลักขโมยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา” และว่า “พวกเขาเอาไปใช้งานได้อย่างดี และยังคิดค้นเครื่องบินรบล้ำสมัยรุ่นที่ 5 ออกมาได้ด้วย”

แต่อดีตรองรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยอมรับว่า ยังไม่มีข้อมูลที่จะชี้ชัดว่า เครื่องบินรุ่นดังกล่าวของจีนมีความสามารถเทียบเคียงกับเครื่องบินรบ เอฟ-22 แรปเตอร์ ของสหรัฐฯ ได้หรือไม่ เนื่องจาก ยังไม่มีการไปใช้ในการรบมาก

ส่วน แมทธิว บราซิล ซึ่งเป็นนักวิจัยและนักเขียนจาก Jamestown Foundation ซึ่งเคยทำงานกับสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงปักกิ่ง ทั้งในด้านส่งเสริมและควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีชั้นสูงของสหรัฐฯ ไปยังจีน กล่าวว่า สำนักงานสืบสวนกลางของสหรัฐฯ (FBI) ไม่มีกำลังคนมากพอที่จะคอยติดตามการเคลื่อนไหวของจีนในสหรัฐฯ ซึ่งหมายถึง “เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการอบรมด้านภาษา วัฒนธรรมและด้านต่าง ๆ ของจีน มากเพียงพอ (และ) สภาคองเกรสควรยื่นมือเข้ามาช่วยในเรื่องนี้และให้งบสนับสนุนโครงการประเภทดังกล่าวเพื่อช่วยอบรมบุคลากร”

บราซิล บอกกับผู้สื่อข่าว วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ด้วยว่า “ปฏิบัติการจารกรรมของ(พรรค)คอมมิวนิสต์จีน ไม่เหมือนกับกองทัพแมลงสาบพร้อมฟันคมเหมือนกริชไต่ขึ้นแขน ... มันเป็นการสอดแนม ... เราจะสามารถรับมือได้ดีถ้ามีระบบต่อต้านการจารกรรมที่มีทั้งฝ่ายรัฐบาลและภาคเอกชนทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด”

เมื่อเดือนที่แล้ว ส.ว.มาร์โก รูบิโอ และส.ว.มาร์ค วอร์เนอร์ เรียกร้องให้รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ขยายการใช้อำนาจและเครื่องมือที่มีอยู่กับกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อป้องกันกลุ่มอุตสาหกรรมทหารและองค์กรของจีนไม่ให้หาประโยชน์จากการลงทุน บุคลากร และเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ได้”

เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ทีมงานของวอร์เนอร์ บอกกับ วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลางว่า “เรายังไม่ได้รับการตอบรับใด ๆ และกำลังติดตามรายละเอียดจากกระทรวงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่”

วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ส่งอีเมลไปยังสถานทูตจีนในกรุงวอชิงตันเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับขณะจัดทำรายงานข่าวนี้

เทคโนโลยีสหรัฐฯ ในอาวุธจีน

จีนอ้างว่า ตนเป็นผู้พัฒนาเครื่องบินรถล่องหน เจ-20 รุ่นที่ 5 ด้วยตนเองและนำมาใช้งานในปี ค.ศ. 2017

จอห์น ชิปแมน จาก International Institute for Strategic Studies กล่าวไว้เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่งานของสถาบันฯ ว่า การผลิตเครื่องบินรบ เจ-20เอ ของจีนนั้นน่าจะแซงหน้าระดับการผลิตเครื่องบินรบ เอฟ-22 แรปเตอร์ ของสหรัฐฯ ได้ภายในสิ้นปีนี้

ขณะเดียวกัน DefenseOne ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวด้านกิจการทหารที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ระบุว่าเครื่องบินรบรุ่นที่ 6 อาวุธความเร็วเหนือเสียง (hypersonic) และขีปนาวุธของจีน รวมทั้งบอลลูนสอดแนมที่ข้ามน้ำมายังพื้นที่ของสหรัฐฯ เมื่อเดือนที่แล้วล้วนมีการใช้เทคโนโลยีของอเมริกาทั้งสิ้น

เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวด้วยว่า จีนนั้นมีคลังแสงอาวุธ hypersonic ในระดับต้น ๆ ของโลกอยู่ในเวลานี้ด้วย

แทร์รี ธอมป์สัน นายทหารระดับพันเอกของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่เกษียณออกมาแล้วและเคยทำหน้าที่วางแผนการรบที่เพนตากอน บอกกับ วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลางว่า จีนนั้นขาดซึ่งพื้นฐานเทคโนโลยีอันหนักแน่นมั่นคงและมีประวัติอันยาวนานเกี่ยวกับการเฝ้าขโมยเทคโนโลยีของคนอื่น

ธอมป์สัน กล่าวว่า “ถ้าคุณลองมองย้อนกลับไปดูมหากาพย์พัฒนาการของเครื่องบินจีนดู จะได้ยินพวกเขา(จีน)บอกว่า ได้ผลิตเครื่องบินที่หน้าตาเหมือนและบินเหมือนเครื่องเอฟ-16 และเอฟ-15 และเอฟ-18 ... ซึ่งก็คือ ทั้งหมดดูเหมือนเครื่องบินของเรา พวกเขาไม่ได้สร้างอะไรใหม่ ๆ ที่มารากฐานด้านเทคโนโลยีของตนเอง”

อดีตนายทหารกองทัพอากาศสหรัฐฯ ยังกล่าวด้วยว่า จีนหมายตาไปยังเทคโนโลยีระบบเครื่องยนต์และพลังงาน รวมทั้งระบบอากาศพลศาสตร์ (aerodynamics) เพราะจีนไม่มีความสามารถที่จะเคลือบพื้นผิวภายนอกของเครื่องบินด้วยวัสดุล่องหน “พวกเขาขโมยจากเรา” พร้อมกล่าวด้วยว่า “แต่ตอนนี้ จีนกำลังเริ่มก้าวขึ้นมาเทียบชั้นกับประเทศอื่น ๆ ในโลกเสรีแล้ว เพราะพวกเขาเพียงแค่ใช้การขโมยเบิกทางให้ตนเอง”

การโจมตีทางไซเบอร์และสอดแนบแบบเดิม ๆ

เจมส์ แอนเดอร์สัน อดีตรองรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับรายการ Fox News Digital ว่า งานด้านข่าวกรองของจีนนั้นใช้วิธีแบบเดิม ๆ ซึ่งก็คือ การสอดแนมและการติดสินบนเพื่อซื้อตัวผู้ทำสัญญารับจ้างทำงานให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้ง การใช้หนทางไซเบอร์ไฮเทคเพื่อขโมยข้อมูลสำคัญ ๆ เกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ด้วย

แอนเดอร์สัน กล่าวด้วยว่า “ในทางปฏิบัติ เรา(สหรัฐฯ) กลายมาเป็นผู้ให้การสนับสนุนงบประมาณบางส่วนของงานวิจัยและพัฒนาของ(จีน) เพราะพวกเขาประสบความสำเร็จในการขโมยความลับบางอย่างของเราไปได้”

คริส ออสบอร์น ประธานและบรรณาธิการใหญ่ของ U.S. Military Modernization Center ระบุในบทความที่ตีพิมพ์ออกมาเมื่อเดือนที่แล้วว่า จีนได้จ้างนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนอย่างน้อย 162 คนที่เคยทำงานที่ U.S. Los Alamos National Laboratory และมีประสบการณ์การทำงานด้านหัวรบที่มีความสามารถสูงในการเจาะ วัสดุนาโนคอมโพสิต (nanocomposite materials) ทนความร้อนที่มีเนื้อแข็งแบบใหม่ โดรนที่มีความสามารถในการออกตัวและลงจอดในแนวตั้ง และเทคโนโลยีเรือดำน้ำ “แบบเงียบ” รุ่นใหม่

รายงานฉบับหนึ่งของ BluePath Labs ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาจัดทำตามการมอบหมายของ U.S.-China Economic and Security Review Commission และได้รับการตีพิมพ์ออกมาเมื่อเดือนเมษายนของปีที่แล้ว ระบุว่า “แม้จะมีงานด้านวิจัยอยู่มากมายเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของจีน ระบบห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์นั้นยังเป็นส่วนงานที่มีผู้เข้าใจไม่มากนัก ... ความคลุมเครือนี้ไม่เพียงทำให้เกิดช่องว่างในการเรียนรู้และความเข้าใจงานวิจัยทางกลาโหมของจีนเท่านั้น แต่ทำให้ห้องแล็บจำนวนมากดำเนินงานไปโดยไม่มีใครตรวจจับเจอ ทั้งยังนำมาซึ่งการมีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด ถึงขั้นความร่วมมือระหว่างห้องแล็บด้านกลาโหมของจีนและสถาบันการศึกษาของสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรอื่น ๆ ด้วย”

Residents wait to cross a street near a screen promoting the Chinese People's Liberation Army Air Force, in Beijing, Jan. 9, 2023. The Chinese military held combat strike drills starting the day before, the Chinese and Taiwanese defense ministries said.

ในปีนี้ งบค่าใช้จ่ายทางทหารของจีนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในระดับ 7.2% ถึงราว 224,800 ล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลในบทวิเคราะห์งบประมาณอย่างเป็นทางการของ Center for Strategic and International Studies

รายงานข่าวระบุว่า เมื่อร่วมประชุมกับคณะผู้แทนกองทัพปลดปล่อยประชาชนและกองกำลังตำรวจติดอาวุธเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวว่า จีนควรจะเร่งระดับการส่งเสริมการพึ่งพาตนเองในด้านเทคโนโลยีชั้นสูงได้แล้ว

เอมิลี เดอ ลา บรูแยร์ นักวิจัยอาวุโสจาก Foundation for Defense of Democracies บอกกับผู้สื่อข่าว วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ว่า จีนต้องการเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์สำหรับงานด้านการทหาร การพัฒนาอัลกอริทึมและข้อมูลอันมีค่าต่าง ๆ

เดอ ลา บรูแยร์ กล่าวว่า “การขโมยเทคโนโลยีกลายมาเป็นงานที่มีความสำคัญในลำดับที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ และดิฉันอยากจะบอกว่า ไม่ใช่เพียงแต่การปฏิบัติแบบก้าวร้าวโดยปกติของจีน เมื่อเราพูดถึงการพัฒนาความสามารถต่าง ๆ ที่ว่า แต่ยังรวมถึงการใช้ตัวตนของตนเองในเวทีโลกเพื่อข่มขู่ผู้อื่น ที่มีการเพิ่มมากขึ้นแล้ว” และว่า “(จีน)ไม่ได้เพียงกำลังจะพยายามตามให้ทัน แต่พวกเขาก็กำลังขโมยเทคโนโลยีจากระบบนานาชาติเพื่อการพัฒนากิจการทางทหารของตนเองให้ล้ำสมัย ซึ่งพวกเขาก็จะได้ทำการพัฒนาในราคาทุนที่ต่ำกว่าคนอื่นทุกคน”

  • ที่มา: วีโอเอ