อำนาจ TPA ของปธน.โอบาม่ากับอนาคตข้อตกลงการค้าข้ามแอตแลนติกและข้ามแปซิฟิก

People dressed in costumes take part in a demonstration against the Transatlantic Trade and Investment Partnership (TTIP), a proposed free trade agreement between the European Union and the United States, in Munich April 18, 2015. The posters (L-R) read:

นักวิเคราะห์เชื่อว่าประเด็นสำคัญที่จะทำให้ข้อตกลงการค้า T-TIP และ TPP ลุล่วง คือการให้อำนาจการรับรองข้อตกลงการค้าหรือ TPA แก่ปธน.โอบาม่า

Your browser doesn’t support HTML5

US Trade Deal

การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก Trans-Atlantic Trade and Investment Partnership (T-TIP) รอบที่ 9 ระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรปกำลังดำเนินอยู่ในนครนิวยอร์ค คาดว่าจะใช้เวลา 4 วัน เป้าหมายเพื่อหาทางกำจัดกำแพงภาษีสินค้านำเข้า ลดกฏเกณฑ์ควบคุมการลงทุนในด้านระหว่างสหรัฐฯ กับสมาชิกสหภาพยุโรป 28 ประเทศ

ทั้งสองฝ่ายเริ่มเจรจาข้อตกลงนี้ตั้งแต่ 2 ปีก่อน เชื่อว่าข้อตกลง T-TIP จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างทั้งสองฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติกได้ปีละ 1 แสนล้านดอลล่าร์ ช่วยสร้างงานได้ 13 ล้านตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความแตกต่างและความสลับซับซ้อนในหลายประเด็น ทำให้คาดกันว่าข้อตกลงนี้จะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้

ปัจจุบันสหรัฐฯ ส่งออกสินค้าไปประเทศในสหภาพยุโรป เป็นมูลค่าวันละประมาณ 730 ล้านดอลล่าร์ แต่ยังคงมีการกีดกันการค้ามากมายระหว่างสองฝ่าย ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปต่างยืนยันว่าต้องการลดกำแพงการค้าดังกล่าว และยกระดับสถานะของสหรัฐฯ ให้ทัดเทียมกับประเทศคู่ค้ารายอื่นของยุโรป เช่นเม็กซิโก เกาหลีใต้ และแอฟริกาใต้ ที่ล้วนมีข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป

นอกจากนั้น การเจรจาข้อตกลง T-TIP ยังมีการหารือในประเด็นมาตรฐานด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความขัดแย้งทางธุรกิจระหว่างบริษัทอเมริกันกับบริษัทยุโรป รวมถึงกฏเกณฑ์ต่างๆ ด้านการลงทุน


เมื่อวันศุกร์ ปธน.บารัค โอบาม่า กล่าวขอให้รัฐสภาสหรัฐอนุมัติร่างกฏหมายให้อำนาจการรับรองข้อตกลงการค้าหรือ TPA แก่ตน ซึ่งจะอนุญาตให้รัฐสภามีอำนาจในการยอมรับหรือปฏิเสธข้อตกลงการค้าดังกล่าวเท่านั้น แต่จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใดๆ ในข้อตกลงนั้นได้

แต่อำนาจ TPA ถูกต่อต้านทั้งจากสมาชิกพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตเอง ซึ่งมองว่าจะทำให้อเมริกาเสียเปรียบประเทศคู่ค้าอื่นๆ

คุณ Gary Hufbauer นักวิเคราะห์แห่งสถาบัน Peterson for International Economics ในกรุงวอชิงตัน เชื่อว่าในที่สุด ปธน.โอบาม่าจะได้รับอำนาจรับรองข้อตกลงการค้า แต่ดูเหมือนการจัดทำข้อตกลง T-TIP จะต้องล่าช้าออกไป อย่างน้อยก็จนกว่า ปธน.โอบาม่าจะพ้นจากตำแหน่งในปี ค.ศ 2017

อย่างไรก็ตาม คุณ Hufbauer แสดงความมั่นใจต่อการเจรจาข้อตกลงการค้าข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก Trans-Pacific Partnership (TPP) ระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่น ที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้เช่นกัน และเชื่อว่านายกฯ ญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ จะยอมลดข้อเรียกร้องในเรื่องตลาดเนื้อวัว เนื้อหมู และผลิตภัณฑ์นมของญี่ปุ่น เพื่อให้ข้อตกลง TPP เดินหน้าไปได้

นักวิเคราะห์ผู้นี้เชื่อว่า ประเทศสมาชิก 12 ประเทศของ TPP จะสามารถรับรองขั้นสุดท้ายได้ภายในปีนี้ และจะเป็นการเปิดประตูรับประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชีย-แปซิฟิก เข้าร่วมในข้อตกลง TPP ด้วย รวมถึงเกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย รวมถึงจีนซึ่งเชื่อว่าจะเข้าร่วมภายใน 5-7 ปี

ด้านคุณ Masamichi Adachi นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคาร JP Morgan ในกรุงโตเกียว ระบุว่าแม้ดูเหมือนว่า เวลานี้อุปสรรคของข้อตกลง TPP คือความแตกต่างในตลาดสินค้าเกษตรและตลาดรถยนต์ของญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ

แต่จริงๆ แล้ว สิ่งสำคัญคือการตัดสินใจของรัฐสภาสหรัฐฯ ว่าจะให้อำนาจ TPA แก่ ปธน.โอบาม่าหรือไม่ เพราะหาก ปธน.โอบาม่าได้อำนาจนี้ การเจรจาก็จะง่ายขึ้นมาก

รายงานจากห้องข่าววีโอเอ / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง