ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะเดินทางไปเยือนเมือง เอล ปาโซ รัฐเท็กซัส และเมืองเดย์ตัน รัฐโอไฮโอ ซึ่งมีเหตุยิงกราดคร่าชีวิต 32 คนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่เอฟบีไอ ระบุให้เหตุยิงกราดในเอลปาโซ และในงานเทศกาลอาหารรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นการก่อการร้ายโดยคนในประเทศ ตามรายงานของ Associated Press
การเดินทางเยือนเมืองเอล ปาโซ พรมแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโกในรัฐเท็กซัส ของประธานาธิบดีทรัมป์ มีขึ้นหลังจากสมาชิกพรรคเดโมแครตบางคน ออกมากล่าวโทษวาทกรรมต่อต้านผู้อพยพเข้าเมืองของประธานาธิบดี ทรัมป์ ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเกลียดชัง และนำไปสู่เหตุสะเทือนขวัญในเมือง เอล ปาโซ
โดย ส.ส. รัฐเท็กซัส ฮัวคิน คาสโตร (Joaqin Castro) ระบุว่าข้อความของมือปืนเหตุการณ์เอล ปาโซ สอดคล้องกับคำพูดที่ประธานาธิบดีทรัมป์มักใช้เรียกผู้อพยพเชื้อสายฮิสแปนิกว่าเป็น “ผู้บุกรุก” และว่าเหตุยิงในเอล ปาโซ เป็นเครื่องเตือนให้เห็นถึงอันตรายของวาทกรรมดังกล่าว
ขณะที่การสอบสวนล่าสุด ทางสำนักงานสอบสวนกลาง หรือ เอฟบีไอ ระบุให้เหตุยิงสังหารหมู่ที่ห้างวอลมาร์ท ในเมือง เอล ปาโซ ว่าเป็นการก่อการร้ายโดยคนในประเทศ ส่วนทางการรัฐเท็กซัสระบุว่าเป็นอาชญากรรมจากความเกลียดชัง หลังจากพบว่านายแพทริค ครูเชียส (Patrick Crusius) ชาวผิวขาววัย 21 ปี ซึ่งอยู่ในการควบคุมของตำรวจ โพสต์ข้อความถึง “การบุกรุกของคนที่มีเชื้อสายฮิสแปนิก” หรือชาวอเมริกากลางและอเมริกาใต้ที่พูดภาษาสเปนที่อพยพมาอยู่ที่สหรัฐฯ
ขณะที่นายคริส แกรนท์ Chris Grant หนึ่งในผู้บาดเจ็บจากเหตุยิงกราดในเอล ปาโซ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNN ว่านายครูเชียสผู้ก่อเหตุ ปล่อยให้คนผิวขาวและผิวสีที่อยู่ในห้างวอลมาร์ทช่วงเกิดเหตุออกไปจากพื้นที่ ก่อนจะลงมือสังหารผู้ที่มีเชื้อสายฮิสแปนิกในนั้น
ส่วนอีกคดีสะเทือนขวัญในเทศกาลอาหารในรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 คน บาดเจ็บอีก 13 คน และคนร้ายจะปลิดชีพตนเองเมื่อ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทางเอฟบีไอเปิดการพิจารณาคดีการก่อการร้ายโดยคนในประเทศด้วยเช่นกัน หลังจากพบรายชื่อองค์กรและสถานที่ในสหรัฐฯ ที่คนร้ายระบุไว้เป็นเป้าหมายการโจมตี ซึ่งมีทั้งองค์กรทางศาสนาและการเมือง และมีรายชื่อของเทศกาลอาหารอยู่ในเป้าหมายการโจมตีด้วย
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุยิงสังหารหมู่ 2 เหตุการณ์ภายในเวลาห่างกันเพียง 13 ชั่วโมงในเมือง เอล ปาโซ รัฐเท็กซัส และเมืองเดย์ตัน รัฐโอไฮโอ ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 32 คน และบาดเจ็บอีกหลายสิบคน นับเป็นเหตุยิงกราดครั้งที่ 21 และ 22 ของสหรัฐฯในปีนี้ ซึ่งทางเอฟบีไอ แสดงความกังวลว่ารูปแบบการโจมตีลักษณะนี้ อาจเป็นตัวอย่างให้เกิดการก่อเหตุรุนแรงโดยผู้ก่อการในประเทศในอนาคตได้อีก