Your browser doesn’t support HTML5
จำนวนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในสหรัฐฯ ที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางในเรื่องค่าเล่าเรียนมหาวิทยาลัย ลดลงอย่างมาก หลังจากที่โรงเรียนต่างๆ ปิดการเรียนการสอบเมื่อฤดูใบไม้ผลิต้นปีที่ผ่านมา
การปิดโรงเรียนเพราะการระบาดของโคโรนาไวรัส ทำให้นักเรียนมัธยมปลายที่กำลังจะจบการศึกษาไม่มีโอกาสได้เข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษาฝ่ายแนะแนว ในช่วงเวลาเดียวกับที่หลายครอบครัวที่ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจกำลังเริ่มพิจารณาแผนการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้แก่บุตรหลานของตน
ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโคโรนาไวรัส จำนวนผู้สมัครขอรับความช่วยเหลือด้านค่าเล่าเรียนมหาวิทยาลัยลดลงเกือบครึ่ง เมื่อเทียบกับหนึ่งปีก่อนหน้านี้
สำนักข่าว AP ศึกษาข้อมูลดังกล่าวและพบว่า จำนวนที่ลดลงนั้นส่วนใหญ่เกิดจากนักเรียนที่อยู่ในเขตรายได้ต่ำ ส่งใบสมัครศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยน้อยลง
และแม้โรงเรียนต่างๆ จะมีโครงการกระตุ้นให้นักเรียนยื่นขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางเพื่อศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย แต่จำนวนนักเรียนที่สมัครขอความช่วยเหลือก็ยังคงลดลงจากเมื่อปีที่แล้ว
เรื่องดังกล่าวสร้างความกังวลให้แก่บรรดาเจ้าหน้าที่ด้านการศึกษาของสหรัฐฯ พวกเขาตั้งข้อสังเกตว่า นักเรียนนับหมื่นคนอาจเลือกที่จะชะลอหรือยกเลิกความตั้งใจในการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในช่วงที่เกิดการระบาด ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อหน้าที่การงานของพวกเขาในอนาคต
David Nieslanik ครูใหญ่โรงเรียนมัธยม Southridge High School ที่เมืองลีเวอร์ตัน รัฐโอเรกอน กล่าวว่าเด็กนักเรียนเหล่านี้เลือกที่จะหางานทำแทน และปิดประตูการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยของตน และว่ามีเพียงนักเรียนจากครอบครัวที่รายได้สูงกว่าที่ขอความช่วยเหลือด้านการเงินหลังจากที่ทางโรงเรียนเปลี่ยนไปสอนหนังสือแบบออนไลน์
การที่จะได้รับความช่วยเหลือ FAFSA หรือ Free Application for Federal Student Aid นักเรียนต้องกรอกใบสมัครเพื่อที่จะได้รับการพิจารณาความช่วยเหลือด้านการเงินสำหรับการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่า นักเรียนที่กรอกใบสมัคร FAFSA จนเสร็จสมบูรณ์นั้นมีแนวโน้มที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย
และผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือก็มีแนวโน้มที่จะศึกษาในมหาวิทยาลัยจนจบ
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว AP พบว่า ในช่วง 4 สัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม จำนวนใบสมัครที่กรอกเสร็จสมบูรณ์นั้นลดลง 45% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการลดลงนี้เกิดขึ้นมากที่สุดในโรงเรียนที่อยู่ในกลุ่ม Title I ซึ่งหมายถึงโรงเรียนรัฐบาลที่มีนักเรียนจำนวนมากอยู่ในครอบครัวรายได้น้อย
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า วิกฤตด้านสาธารณสุขจากโควิด-19 นี้ ส่งผลกระทบต่อการลดลงของนักเรียนที่สมัครขอรับความช่วยเหลือโดยหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น นักเรียนขาดการติดต่อกับครูที่ปรึกษาซึ่งมักจะเป็นผู้ให้คำแนะนำตลอดกระบวนการการช่วยเหลือทางการเงินที่มีความซับซ้อน นอกจากนี้ หลายครอบครัวที่ไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้มักจะมีปัญหาเรื่องการกรอกแบบฟอร์มออนไลน์ และเมื่อเศรษฐกิจแย่ลง นักเรียนบางคนก็ต้องหางานทำและหยุดแผนการศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยไว้ชั่วคราว เป็นต้น