เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวมากที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี ระหว่างเดือนมกราคมและเดือนมีนาคมของปีนี้ โดยการนำเข้าที่พุ่งสูงเพื่อรองรับความต้องการและการใช้จ่ายของผู้บริโภคส่งผลให้ภาวะขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ขณะที่ เงินเฟ้อซึ่งปรับเพิ่มก็ยิ่งตอกย้ำการคาดการณ์ว่า ระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะไม่ปรับลดดอกเบี้ยภายในเดือนกันยายนนี้แน่ ๆ แล้ว ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกของปีนี้ในวันพฤหัสบดี โดยเผยให้เห็นถึงการชะลอตัวของการขยายตัวของจีดีพีที่สะท้อนภาพของภาคธุรกิจที่ค่อย ๆ ลดการสั่งสมสินค้าคงคลังและการเปลี่ยนแปลงในแผนการค่าใช้จ่ายของรัฐบาล
โอลู โซโนลา หัวหน้างานด้านวิจัยทางเศรษฐกิจของบริษัทฟิทช์ ให้ความเห็นว่า รายงานล่าสุดนี้ส่งสัญญาณที่ขัดแย้งกันเองออกมา และระบุว่า “ถ้าการขยายตัว(ของเศรษฐกิจ)จะค่อย ๆ ชะลอตัวลงอย่างช้า ๆ แต่เงินเฟ้อกลับมาพุ่งขึ้นอย่างแรกอีกครั้งไปในทิศทางที่ผิด ความคาดหวังว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยในปี 2024 ก็ยิ่งดูไกลความจริงออกไปขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว”
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์แสดงให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐฯ ขยายตัว 1.6% ในไตรมาสล่าสุด โดยได้อานิสงส์จากการใช้จ่ายของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวนี้ต่ำกว่าค่ามัธยฐานที่รอยเตอร์สำรวจจากการสอบถามนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งอยู่ที่ 2.4%
ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโต 3.4%
ในไตรมาสแรกของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสหรัฐฯ หรือ ดัชนี personal consumption expenditures (PCE) ที่ไม่คิดรวมราคาพลังงานและอาหาร พุ่งขึ้น 3.7% เทียบกับ 2.0% ในไตรมาสก่อนหน้า
ดัชนี PCE นี้คือ ตัวเลขหนึ่งที่ เฟด ติดตามคอยดูเพื่อเปรียบเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อ 2%
ระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ คงระดับดอกเบี้ยอ้างอิงไว้ในช่วง 5.25%-5.50% มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมของปีที่แล้ว หลังปรับขึ้นมารวมกันถึง 525 จุด (basis point) หรือ 5.25% นับตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2022 เป็นต้นมา
- ที่มา: รอยเตอร์