กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยืนยันการเดินหน้าแผนร่วมซ้อมรบกับอินเดียต่อไปแม้จะมีสถานการณ์ความสัมพันธ์กับจีนจะยังตึงเครียดอยู่ ขณะที่กระทรวงกลาโหม ย้ำ จะยังไม่ถอนทหารออกจากคาบสมุทรเกาหลีในเวลานี้
รายงานจากกองทัพสหรัฐฯ และกองทัพอินเดียยืนยันว่า เรือรบของทั้งสองประเทศยังคงเดินหน้าการร่วมซ้อมรบในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างรัฐบาลกรุงวอชิงตันและรัฐบาลกรุงนิวเดลี ในช่วงที่ทั้งคู่ยังเผชิญความตึงเครียดกับจีนอยู่
การร่วมซ้อมรบครั้งล่าสุดนี้เริ่มขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาใกล้ๆ กับหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ และใกล้กับช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือที่มีความหนาแน่นที่สุดเส้นหนึ่งของโลก
มาร์ค เอสเปอร์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวในวันอังคารว่า การฝีกซ้อมรบครั้งเป็นการแสดงให้เห็นถึงการยึดมั่นในการยกระดับการร่วมมือของกองทัพเรือของทั้งสองประเทศเพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง
ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและจีนตึงเครียดขึ้นมากจนถึงระดับแย่ที่สุดในหลายทศวรรษ หลังเกิดเหตุปะทะกันระหว่างทหารของทั้งสองใกล้บริเวณพรมแดนพิพาทระหว่างกันซึ่งติดกับเทือกเขาหิมาลัยเมื่อต้นเดือนที่ผ่าน และส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่ทหารของอินเดียเสียชีวิต 20 นาย
รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวด้วยว่า สหรัฐฯ ยังคงจับตาดูสถานการณ์ระหว่างอินเดียและจีนอย่างใกล้ชิด พร้อมแสดงความยินดีที่ทั้งสองฝ่ายพยายามลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ลงแล้ว
นอกจากนั้น รมต.เอสเปอร์ เปิดเผยว่า ตนไม่ได้ออกคำสั่งให้มีการถอนกำลังทหารออกจากคาบสมุทรเกาหลีในเวลานี้ แต่ทางกระทรวงฯ จะประเมินดูความน่าจะเป็นของการปรับเปลี่ยนจำนวนนายทหารตามจุดต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
หนังสือพิมพ์ เดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กำลังวางแผนลดกำลังทหารในเกาหลีใต้ให้ต่ำกว่าระดับ 28,500 นายดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ยังคงไม่สามารถหาข้อสรุปตามความต้องการของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ให้รัฐบาลกรุงโซลเพิ่มงบประมาณรองรับค่าใช้จ่ายการตั้งฐานทัพอเมริกันในเกาหลีใต้
ขณะเดียวกัน รมต.เอสเปอร์ กล่าวว่า การเคลื่อนกำลังทหารของจีนในช่วงที่ผ่านมาซึ่งถือว่าเป็น “พฤติกรรมอันเลวร้าย” ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียอย่างมาก พร้อมวิจารณ์การที่จีนพยายามเข้ายึดครองดินแดนและทำการฝึกซ้อมรบใกล้ๆ กับพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ ว่า ไม่เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายสากล และเรียกร้องให้นานาชาติร่วมกันยืนหยัดต่อต้านพฤติกรรมดังกล่าวของจีนด้วย
จีนได้ออกมาตอบโต้เรื่องนี้โดยกล่าวว่า รัฐบาลกรุงวอชิงตันไม่มีสิทธิ์ในประเด็นดังกล่าว และว่าสหรัฐฯ เป็น “ตัวสร้างปัญหาและตัวก่อกวนความมั่นคงในภูมิภาค”
แบรดลีย์ บาวแมน ผู้อำนวยการอาวุโส ของศูนย์ศึกษาอำนาจทางทหารและการเมือง หรือ Center on Military and Political Power แห่งมูลนิธิปกป้องประชาธิปไตย หรือ Foundation for Defense of Democracies ให้ความเห็นว่า รัฐบาลกรุงปักกิ่งต้องการไล่สหรัฐฯ ออกไปให้ไกล เพื่อที่จะ “ควบคุมและใช้อำนาจปกครองเหนือเพื่อนบ้านที่อ่อนแอกว่า”
อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวว่า ตนหวังที่จะเดินทางไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการครั้งแรกภายในสิ้นปีนี้ แม้ว่ากระทรวงกลาโหมจะยังไม่มีรายละเอียดของแผนการนี้ออกมา