Your browser doesn’t support HTML5
ขณะนี้กำลังเกิดความวุ่นวายอย่างหนักในกรุงคาบูล สืบเนื่องจากรายงานว่ากลุ่มตาลิบันสามารถยึดครองเมืองหลวงของอัฟกานิสถานได้แล้ว หลังจากในช่วง 9 วันที่ผ่านมา กลุ่มตาลิบันได้รุกคืบและยึดครองเมืองใหญ่ในอัฟกานิสถานไว้เกือบทั้งหมด
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในอัฟกานิสถาน อับดุล ซาตาร์ เมียร์ซักวัล กล่าวผ่านวิดีโอว่า จะมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจการปกครองประเทศอย่างสันติไปยังกลุ่มตาลิบัน และว่ากรุงคาบูลยังไม่ได้ถูกโจมตีและจะไม่ถูกโจมตีจากกลุ่มตาลิบัน
ทางด้านโฆษกกลุ่มตาลิบันทวีตข้อความว่า กองกำลังตาลิบันจะไม่ใช้กำลังเพื่อรุกเข้าไปในกรุงคาบูล แต่ขอให้มีการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติเช่นกัน พร้อมประกาศว่าจะมีการอภัยโทษให้กับทุกคนและจะไม่มีการสังหารเพื่อล้างแค้นแต่อย่างใด
รายงานที่อ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่รัฐบาลอัฟกานิสถานผู้หนึ่ง ระบุว่า กลุ่มตาลิบันรุกคืบเข้าไปในกรุงคาบูลจากเกือบทุกด้าน โดยสำนักข่าวเอพีรายงานคำกล่าวของสมาชิกกองกำลังตาลิบันว่า จะไม่มีใครหรือสิ่งใดได้รับอันตราย และชีวิตประชาชนในกรุงคาบูลมิได้ตกอยู่ในความเสี่ยง
SEE ALSO: ปธน.อัฟกานิสถานเดินทางออกนอกประเทศ หลังตาลิบันบุกยึดกรุงคาบูลสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ประชาชนในกรุงคาบูลต่างมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับรายงานว่ากลุ่มตาลิบันกำลังยึดครองเมืองหลวงของประเทศ
อาลี ซีนา นักศึกษาในกรุงคาบูลผู้หนึ่งเชื่อว่า รัฐบาลได้ยอมยกเมืองหลวงให้ตาลิบันไปแล้ว ซึ่งข้อดีก็คือไม่ต้องมีการต่อสู้ และเชื่อว่าชีวิตของประชาชนภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลิบันจะดำเนินต่อไป
แต่ฮามิดุลลาห์ ประชาชนอีกผู้หนึ่งซึ่งเคยทำงานให้กับกองทัพสหรัฐฯ หวาดกลัวว่าชีวิตของตนจะตกอยู่ในอันตรายหากกลุ่มตาลิบันสามารถครอบครองกรุงคาบูลได้จริง ๆ
ทางด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน เรียกเหตุการณ์ที่กลุ่มตาลิบันกำลังยึดครองอัฟกานิสถาน และการล่มสลายของรัฐบาลกรุงคาบูลว่า “เป็นสิ่งที่บีบหัวใจ” และว่า กองกำลังสหรัฐฯ กำลังพยายามนำพลเมืองอเมริกันและชาวอัฟกันที่เคยทำงานกับรัฐบาลสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถานโดยด่วน
รัฐมนตรีบลิงเคน กล่าวระหว่างต้อนรับรัฐมนตรีต่างประเทศชิลีที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในวันอาทิตย์ โดยบอกว่าการรับรองความปลอดภัยของคนอเมริกันและชาวอัฟกันที่ทำงานให้รัฐบาลสหรัฐฯ คือภารกิจสำคัญที่สุดในตอนนี้ พร้อมบอกปัดคำวิจารณ์ที่ว่ารัฐบาลกรุงวอชิงตันมิได้เตรียมพร้อมสำหรับการล่มสลายของกองกำลังอัฟกานิสถาน
รัฐมนตรีบลิงเคน กล่าวกับรายการ "State of the Union" ของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นว่า สหรัฐฯ จะทำทุกวิถีทางเพื่อนำพลเมืองอเมริกันและชาวอัฟกันบางคนออกจากประเทศ และได้เตือนไปถึงกลุ่มตาลิบันว่าห้ามยุ่งเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่อเมริกันและการทำงานของสหรัฐฯ ระหว่างที่สหรัฐฯ กำลังถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน ไม่เช่นนั้นจะมีการตอบโต้ในทันที
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่อเมริกันผู้หนึ่งซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ กล่าวกับวีโอเอว่า การอพยพคนออกจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในกรุงคาบูลกำลังดำเนินไปด้วยดี และว่า ทหารสหรัฐฯ หลายพันคนได้เดินทางถึงอัฟกานิสถานแล้วและได้เข้าควบคุมพื้นที่รอบสถานทูตอเมริกันและสนามบินระหว่างประเทศ ฮามิด คาไซ ชานกรุงคาบูล ไว้อย่างแน่นหนา
เมื่อวันเสาร์ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน อนุมัติให้ส่งทหารอีก 1,000 คนไปยังกรุงคาบูล เพื่อรักษาทรัพย์สินและผลประโยชน์ของสหรัฐฯ รวมทั้งช่วยปกป้องเจ้าหน้าที่อเมริกันและชาวอัฟกันที่ทำงานให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ โดยคาดว่าจะมีทหารอเมริกันราว 4,000 คนเข้าประจำการในพื้นที่สำคัญต่าง ๆ ในกรุงคาบูลในช่วงไม่กี่วันจากนี้
หน่วยงานของยูเอ็นยืนยันปฏิบัติหน้าที่ในอัฟกานิสถานต่อไป
หน่วยงานต่าง ๆ ขององค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ยืนยันว่าจะยังคงปฏิบัติหน้าที่ในอัฟกานิสถานต่อไปเพื่อจัดหาความช่วยเหลือให้ประชาชนหลายล้านคนที่อาจต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มตาลิบัน
เยนส์ ลาคร์ โฆษกของสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) กล่าวว่า ยูเอ็นปฏิบัติภารกิจในอัฟกานิสถานมาตลอด 70 ปี และยังคงอยู่ที่นั่น พร้อมระบุว่าสหประชาชาติมีความกังวลอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของชาวต่างชาติและชาวอัฟกันที่ทำงานให้กับรัฐบาลต่างชาติ และกำลังจับตามองสถานการณ์ในอัฟกานิสถานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ความช่วยเหลือคนเหล่านั้น
ปัจจุบัน มีเจ้าหน้าที่สหประชาชาติทำงานในส่วนที่เกี่ยวกับอัฟกานิสถานราว 720 คน ในจำนวนนี้ 300 คนทำงานอยู่ในอัฟกานิสถานและส่วนที่เหลือทำงานแบบระยะไกลเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 โดย OCHA ทำหน้าที่ดูแลเรื่องความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่มาจากหน่วยงานของยูเอ็นและองค์กรที่ไม่ใช่รัฐบาลรวม 156 แห่ง เพื่อส่งไปให้แก่ชาวอัฟกันราว 8 ล้านคนในปีนี้
SEE ALSO: สหประชาชาติและสหภาพยุโรปเตือนกลุ่มตาลิบันให้ยุติการใช้ความรุนแรง
เยนส์ ลาคร์ กล่าวว่า จำนวนผู้ไร้ถิ่นฐานในอัฟกานิสถานเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ทหารสหรัฐฯ และองค์การนาโต้ถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานก่อนที่จะเกิดความวุ่นวายเมื่อกลุ่มตาลิบันขยายการครอบครองพื้นที่ต่าง ๆ และว่าทาง OCHA ยินดีทำงานร่วมกับทุกฝ่าย รวมทั้งกลุ่มตาลิบัน หากสามารถช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเดือดร้อน ภายใต้หลักการว่าด้วยการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดอย่างแท้จริง
ด้านสำนักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประเมินว่ามีชาวอัฟกันที่ลี้ภัยความรุนแรงในอัฟกานิสถานเกือบ 400,000 คนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ขณะที่องค์การอาหารโลกรายงานว่า ได้เพิ่มความช่วยเหลือด้านอาหารแก่ประชาชนอัฟกัน 9 ล้านคนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
ส่วนองค์การอนามัยโลกระบุว่า ความกังวลด้านสาธารณสุขในอัฟกานิสถานขณะนี้คือบาดแผลและอาการบาดเจ็บจากความรุนแรงในหลายเมือง โดยได้มีการสนับสนุนโครงการธนาคารเลือดและฝึกฝนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อรับมือความเสี่ยงด้านสาธารณสุขที่อาจเพิ่มขึ้นเช่นกัน
(ที่มา: วีโอเอ เอพี และรอยเตอร์)