สหรัฐฯ แสดงความกังวลในวันจันทร์ หลังมีการเดินเรื่องทางกฎหมายต่อหัวหน้าพรรคก้าวไกลที่ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจากประชาชนอย่างมากในการเลือกตั้งเมื่อ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา พร้อมย้ำสนับสนุนการเลือกตั้งที่สะท้อนเสียงประชาชน ตามรายงานของรอยเตอร์
ก่อนที่รัฐสภาไทยเตรียมจัดการอภิปรายครั้งที่ 2 ในวันพุธ ว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะสามารถได้รับการเสนอชื่อได้อีกหรือไม่ หลังจากเขาได้เสียงสนับสนุนไม่ถึงเป้าในการลงคะแนนครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม
ทางการสหรัฐฯ ซึ่งแทบไม่ได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับความคืบหน้าของการเลือกตั้งไทยในช่วงที่ผ่านมา ล่าสุดโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แมทธิว มิลเลอร์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่กรุงวอชิงตันเมื่อวันจันทร์ว่า รัฐบาลวอชิงตันไม่ได้มีผลลัพธ์ในการเลือกตั้งที่อยากจะให้เกิด แต่สหรัฐฯ สนับสนุนกระบวนการเลือกตั้งที่สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของประชาชนไทย
“เรากำลังจับตาอย่างใกล้ชิดถึงพัฒนาการหลังการเลือกตั้ง – ซึ่งรวมถึงพัฒนาการด้านระบบกฎหมายของไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล” มิลเลอร์ กล่าว
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญของไทยรับคำร้องเรื่องแผนปรับแก้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของนายพิธาและพรรคก้าวไกล และการวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ขอให้ศาลพิจารณาว่านายพิธาขาดคุณสมบัติในการลงเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม ด้วยเหตุผลว่าเขามีหุ้นในบริษัทสื่อ ซึ่งเป็นเงื่อนไขต้องห้ามของการลงเลือกตั้ง ซึ่งสร้างความกังวลว่าศาลรธน.จะถือว่าแคนดิเดตนายกฯ รายนี้ขาดคุณสมบัติ หรืออาจสั่งยุบพรรคก้าวไกลได้
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความเป็นไปได้ดังกล่าว มิลเลอร์ กล่าวว่า เขาจะไม่ “คาดคะเนเกี่ยวกับการรับมือกับเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น” แต่ได้ย้ำอีกครั้งว่าประเด็นดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่น่ากังวล
ในวันที่ 18 กรกฎาคม แอนน์-มารี เทรเวลเลียน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนา ฝ่ายกิจการอินโด-แปซิฟิก ของสหราชอาณาจักร ตอบกระทู้คำถามในสภาเกี่ยวกับการเลือกตั้งของไทยที่ถามโดยสมาชิกรัฐสภาจากพรรคอนุรักษ์นิยม แอนดี สลอเธอร์
สลอเธอร์ถามว่า ในวันที่ 19 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ มีแนวโน้มว่าพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะยังไม่ได้รับการรับรองโดยสมาชิกวุฒิสภาซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐบาลทหารทั้งหมด จึงมีคำถามว่ารัฐมนตรีต่างประเทศได้มีท่าทีอย่างไรต่อทางการไทยหรือไม่ ในการที่จะให้ประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไป
เทรเวลเลียนกล่าวว่า “เรายอมรับการแสดงออกซึ่งการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งต่อประชาธิปไตยผ่านจำนวนผู้ออกมาลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม และเราคาดหวังที่จะร่วมงานกับรัฐบาลใหม่ เรายังคงทำงานอย่างใกล้ชิดผ่านทีมของพวกเราในไทย เพื่อสนับสนุนเหล่าผู้ที่จะเป็นกลุ่มในรัฐสภาต่อไป”
- ที่มา: รอยเตอร์, รัฐสภาสหราชอาณาจักร