มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ เร่งหามาตรการรับมือโควิด-19 ก่อนปีการศึกษาใหม

A CSULB student receives a first dose of the Pfizer Covid-19 vaccine during a City of Long Beach Public Health Covid-19 mobile vaccination clinic at the California State University Long Beach (CSULB) campus on August 11, 2021 in Long Beach,…

Your browser doesn’t support HTML5

Colleges Back to Drawing Board Covid

การเพิ่มขึ้นของอัตราผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ ทำให้สถาบันอุดมศึกษาทั่วสหรัฐฯ ต้องเร่งปรับเปลี่ยนนโยบายการทำงานและการเรียนการสอนของตนอีกครั้ง เพื่อช่วยให้บุคลากรและนักศึกษาของตนผ่านพ้นวิกฤตที่ดำเนินมากว่านี้ไปให้ได้

จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19ที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมๆ กับการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ทำให้บรรดามหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ กลับคืนสู่ภาวะปกติได้ยาก และต้องเริ่มกำหนดให้นักศึกษาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือบูสเตอร์ สวมหน้ากากอนามัย จำกัดการรวมตัวทางสังคม และในบางกรณี ก็เปลี่ยนกลับไปทำการเรียนการสอนแบบออนไลน์

ภัยคุกคามของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน เกิดขึ้นในขณะที่บรรดาสถานศึกษาต่างๆ หวังที่จะผ่อนคลายมาตรการด้านความปลอดภัยในฤดูใบไม้ผลิที่จะมาถึง และในตอนนี้มหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งให้นักศึกษาของตนเตรียมตัวสำหรับการใส่หน้ากาก และการตรวจหาเชื้อ เป็นเวลาอีกหนึ่งปีการศึกษา และถ้าหากสถานการณ์เลวร้ายลง ก็อาจต้องมีข้อจำกัดทางสังคมอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย

ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) ผู้บริหารได้ประกาศงดกิจกรรมทั้งหมดในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างกะทันหันเมื่อต้นเดือน และเปลี่ยนไปสอบปลายภาคแบบออนไลน์ หลังจากที่นักศึกษากว่า 700 คนมีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวก ในช่วงเวลาเพียงสามวัน โดยอธิการบดี มาร์ธา พอลแล็ค (Martha Pollack) กล่าวว่า มีการพบเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนในกลุ่มตัวอย่างเป็นจำนวนมาก และว่า นับตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ ความมุ่งมั่นของทางมหาวิทยาลัยคือ การทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อปกป้องสุขภาพของคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา

ต่อมา มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) ได้เปลี่ยนไปสอบปลายภาคแบบออนไลน์และแนะนำให้นักศึกษาออกจากมหาวิทยาลัยโดยเร็วที่สุด ขณะที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University) ก็ได้ยกเลิกงานกิจกรรมที่ไม่ใช่ด้านวิชาการทั้งหมด และให้เปลี่ยนการสอบปลายภาคไปเป็นแบบออนไลน์

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่งข้างต้น ต่างรายงานอัตราการฉีดวัคซีนของนักศึกษามากกว่า 98% แล้ว

เคนท์ ซิเวรุด (Kent Syverud) อธิการบดีมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ (Syracuse University) ที่อยู่ทางตอนเหนือของนครนิวยอร์คกล่าวว่า หลังจากที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสเพียงไม่กี่รายในฤดูใบไม้ร่วง ทางสถาบันรู้สึกว่า สถานการณ์เริ่มมีความปลอดภัยขึ้นสำหรับภาคเรียนฤดูใบไม้ผลิที่กำลังจะมาถึง แต่โอไมครอนได้เปลี่ยนแปลงมุมมองดังกล่าวไปแล้ว และมหาวิทยาลัยต้องกลับมาใช้มาตรการการป้องกันต่างๆ อีกครั้ง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มหาวิทยาลัยซีราคิวส์ ได้ประกาศว่า นักศึกษาและเจ้าหน้าที่ที่มีสิทธิ์ทุกคนจะต้องฉีดวัคซีนบูสเตอร์ก่อนภาคเรียนฤดูใบไม้ผลิ นอกจากนี้ นักศึกษาจะต้องถูกตรวจหาเชื้ออีกรอบเมื่อกลับมาที่มหาวิทยาลัย และเจ้าหน้าที่กำลังพิจารณาว่าจะขยายมาตรการการสวมหน้ากากที่มีอยู่หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ยังไม่ทราบแน่ชัดเกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์โอไมครอน รวมทั้งระดับความอันตรายของไวรัสสายพันธุ์นี้ แต่สำหรับในตอนนี้ โคโรนาไวรัสสายพันธุ์เดลต้ายังเป็นสาเหตุหลักของการติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่ทั้งในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ อยู่

ในขณะนี้ มหาวิทยาลัยต่างๆ เตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด โดยหลายๆ คนมองว่า วัคซีนบูสเตอร์เป็นความหวังที่ดีที่สุด

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมากกว่า 30 แห่งได้ออกข้อกำหนดเกี่ยวกับวัคซีนบูสเตอร์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่อีกหลายๆ แห่งกำลังตัดสินใจในเรื่องนี้อยู่ โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐญ (CDC) ได้สนับสนุนให้มีการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ให้แก่ผู้ที่มีอายุ 17 ปีขึ้นไป และเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทไฟเซอร์ประกาศว่า วัคซีนบูสเตอร์สำหรับโควิด-19 อาจให้การป้องกันที่สำคัญต่อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน แม้ว่าวัคซีนสองเข็มแรกดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพน้อยกว่า

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยหลายร้อยแห่งกำหนดให้นักศึกษาฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และขั้นต่อไปคงจะต้องมีการกำหนดให้ฉีดวัคซีนบูสเตอร์ด้วย

จนถึงตอนนี้ การออกมาตรการกำหนดให้ฉีดวัคซีนบูสเตอร์ในสถาบันการศึกษาสหรัฐฯ นั้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยด้านศิลปศาสตร์ขนาดเล็กๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ แต่ก็มีมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ที่กำหนดใช้มาตรการนี้ด้วย อย่างเช่น มหาวิทยาลัยบอสตัน (Boston University) และมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก รวมถึงมหาวิทยาลัยที่อยู่ไกลๆ อย่าง มหาวิทยาลัยนอเตอร์เดม (University of Notre Dame) ในรัฐอินเดียนาและมหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก (University of New Mexico) เป็นต้น

ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยแห่งแมสซาชูเซตส์ (University of Massachusetts) ในแอมเฮิร์สต์ หรือ UMass เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยแห่งแรกๆ ที่กำหนดให้นักศึกษาฉีดวัคซีนบูสเตอร์ โดยระบุว่า นักศึกษาทุกคนต้องได้รับการฉีดวัคซีน เว้นเสียแต่จะได้รับการยกเว้นทางด้านการแพทย์หรือทางศาสนา

อย่างไรก็ดี มีผู้ออกมาโต้แย้งเกี่ยวกับมาตรการที่กำหนดให้ฉีดวัคซีนบูสเตอร์ โดยระบุว่า 97% ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยของตนได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และมีจำนวนผู้ติดเชื้อในมหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่ราย แต่ เอมิลี โอไบรอัน (Emily O’Brien) นักศึกษาปีหนึ่งที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้กล่าวว่า การฉีดวัคซีนบูสเตอร์นั้นเป็นข้อกำหนดที่สมเหตุสมผล และว่า ตัวเธอเองก็กำลังวางแผนเข้ารับวัคซีนนี้ด้วย และเชื่อว่า มาตรการดังกล่าวอาจช่วยป้องกันการล็อกดาวน์ในอนาคตได้

UMass จะกำหนดให้นักศึกษาสวมหน้ากากเมื่อเริ่มภาคเรียนฤดูใบไม้ผลิ และจะแจกชุดทดสอบหาเชื้อโควิด-19 แบบรู้ผลเร็วให้นักศึกษานำกลับไปที่บ้านก่อนปิดภาคเรียนฤดูหนาวอีกด้วย

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งกำลังวางแผนรับมือกับการหยุดชะงักต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในปีการศึกษาหน้า แม้ว่าจะกำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ก็ตาม

แอนิตา บาร์คิน (Anita Barkin) ประธานร่วมของคณะทำงานด้านโควิด-19 แห่งสมาคม American College Health Association กล่าวว่า ความกังวลอีกประการหนึ่งก็คือ เรื่องระยะเวลาการระบาดของไวรัสโอไมครอน ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่มีสายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่ก็มีความกังวลว่า จะมีการระบาดเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นขึ้นที่ส่งผลให้ผู้คนทำกิจกรรมในตัวอาคารกันมากขึ้นตามไปด้วย และทางสมาคมยังแนะนำด้วยว่า ให้มหาวิทยาลัยต่างๆ มุ่งให้ความสำคัญกับการเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนในรั้วมหาวิทยาลัยเพื่อหลีกเลี่ยงคลื่นลูกใหม่ของผู้ติดเชื้อโควิด-19

(ที่มา: สำนักข่าว เอพี)