ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองระหว่างประเทศเชื่อว่า ประเด็นเกี่ยวกับไต้หวันจะเป็นหนึ่งในหัวข้อหารือหลักระหว่างประธานาธิบดี โจ ไบเดน และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำของประเทศมหาอำนาจทั้งสอง ที่มีกำหนดจัดขึ้นในช่วงหัวค่ำวันจันทร์ตามเวลาในกรุงวอชิงตัน
เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า ผู้นำรัฐบาลกรุงวอชิงตันและผู้นำรัฐบาลกรุงปักกิ่ง จะเข้าร่วมการหารือแบบออนไลน์ หลังทั้งสองประเทศสามารถบรรลุข้อตกลงด้านแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ในการหารือนอกรอบระหว่างการประชุม COP26 ที่จัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์
การที่สองประเทศมหาอำนาจสามารถตกลงกันได้ในเรื่องปัญหาสภาวะโลกร้อนอย่างไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ทำให้เชื่อกันว่า การหารือที่จะเกิดขึ้นในช่วงเช้าวันอังคารตามเวลาในกรุงปักกิ่งนั้น จะมุ่งเน้นไปที่ประเด็นอ่อนไหวอื่นๆ เช่น การสั่งสมกำลังด้านอาวุธนิวเคลียร์ของจีน และข้อตกลงด้านการค้าระหว่างทั้งสองเพื่อยุติข้อขัดแย้งที่เริ่มขึ้นในสมัยอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ รวมทั้งเรื่องสถานการณ์เกี่ยวกับไต้หวันด้วย
ไมเคิล มัสซา นักวิชาการประจำสถาบัน American Enterprise Institute ในกรุงวอชิงตันให้ความเห็นว่า ปธน.สี น่าจะพยายามเลียบเคียงตรวจสอบเกี่ยวกับจุดยืนของรัฐบาลปธน.ไบเดน ในเรื่องของจีน และเรื่องของการที่กรุงปักกิ่งจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในต้นปีหน้า การยืนยันจุดยืนเกี่ยวกับการรับมือปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งหารือกรณีโครงการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ และประเด็นความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงด้านพลังงานด้วย
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ มัสซา เชื่อว่า เรื่องของไต้หวันจะถูกหยิบยกขึ้นมาหารือกันมากกว่าในการพูดคุยระหว่างปธน.สหรัฐฯ และจีน ครั้งก่อนๆ อย่างแน่นอน นักวิชาการรายนี้ไม่ได้คาดหวังว่า จะมีการออกแถลงการณ์ร่วมใดๆ ที่นำเสนอการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับจุดยืนกรณีไต้หวันหลังการประชุมสุดยอดของสองผู้นำนี้
ครั้งสุดท้ายที่ ปธน.ไบเดน และปธน.สี ได้พบปะและพูดคุยกันนั้นคือเมื่อต้นเดือนกันยายน ก่อนที่ จีนจะยกระดับการเดินหน้าส่งเครื่องบินรบของตนเข้าไปในเขตเเสดงตนเพื่อการป้องกันทางอากาศ (ADIZ) ของไต้หวันเมื่อเดือนตุลาคม ในช่วงการจัดงานที่ระลึก 100 ปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งทำให้สหรัฐฯ ต้องออกโรงมาเตือนจีนทันที
การประชุมสุดยอดผู้นำแบบออนไลน์ที่จะมีขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีนนี้ เป็นผลมาจากการหารือร่วมกันเป็นเวลาถึง 6 ชั่วโมงระหว่าง หยาง เจียชื่อ นักการทูตจีนและ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ที่สวิตเซอร์แลนด์เมื่อเดือนที่แล้ว
ขณะเดียวกัน แอนดรูว์ หวัง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งเนวดา ลาส เวกัส กล่าวว่า ตนไม่คาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านจุดยืนเกี่ยวกับไต้หวัน จากการประชุมสุดยอดของสองผู้นำนี้ แม้ว่าสถานการณ์ในพื้นที่ช่องแคบไต้หวันจะตึงเครียดขึ้นมากก็ตาม
หวัง เชื่อว่า ปธน.สี จะบอกกับปธน.ไบเดน ให้ระวังและไม่เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของจีน รวมทั้งเคารพในหลักการ ‘จีนเดียว’ ขณะที่ ปธน.ไบเดน น่าจะหยิบยกประเด็นความกังวลเกี่ยวกับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและสถานการณ์ในไต้หวันขึ้นมาพูดคุย
ส่วน เลฟ นัคแมน นักวิชาการจากศูนย์ Fairbank Center for Chinese Studies แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เห็นด้วยกับ แอนดรูว์ หวัง ว่า การประชุมสุดยอดผู้นำนี้น่าจะเป็นโอกาสที่สื่อจีนและนักการฝ่ายค้านในไต้หวันใช้ตอกย้ำว่า สหรัฐฯ เองให้ความเคารพในหลักการ ‘จีนเดียว’ เสมอมา ขณะที่การหารือที่จะเกิดขึ้นนี้เป็นเพียงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ของผู้นำของสองประเทศมหาอำนาจที่มีความเห็นไม่ตรงกันในหลายเรื่องนั่นเอง