ผู้นำการเมือง คนดังสหรัฐฯ ไว้อาลัย 'จอร์จ ฟลอยด์' พร้อมประณามความรุนแรงของตำรวจ

A mural depicts George Floyd, who died in Minneapolis police custody, in Berlin, Germany.

การเสียชีวิตของนาย จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชายชาวแอฟริกันอเมริกัน ที่เกิดขึ้นในระหว่างที่เขาถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวประจำเมืองมินนิอาโปลิส รัฐมินนิโซตา เมื่อวันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงการใช้ความรุนแรงของตำรวจ ที่ลุกลามไปหลายเมืองทั่วสหรัฐฯ

นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดปฏิกิริยาจาก ผู้นำทางการเมือง นักร้อง นักแสดง และคนดังอีกมากมายในอเมริกา ที่ร่วมประณามความอยุติธรรม การใช้กำลังของตำรวจ และแสดงความเสียใจต่อการจากไปของนายฟลอยด์ ชายผิวสีวัย 46 ปี ซึ่งถูกตำรวจจับกุมด้วยข้อหาใช้ธนบัตรปลอม แต่ในระหว่างการเข้าจับกุมนั้น ตำรวจนายหนึ่งได้ใช้เข่ากดทับที่คอเป็นเวลาหลายนาที จนทำให้นายฟลอยด์ขอความช่วยเหลือ ร้องตะโกนว่า “หายใจไม่ออก” จนเสียชีวิตในเวลาต่อมา

U.S. President Donald Trump

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีปฏิกิริยาทั้งสองด้าน ด้านหนึ่ง เขากล่าวว่าการเสียชีวิตของนายฟลอยด์ เป็นเรื่องที่ “น่าเศร้าและเป็นโศกนาฏกรรม” และได้ให้ทางกรมสืบสวนกลาง หรือ เอฟบีไอ และกระทรวงยุติธรรมตรวจสอบการเสียชีวิตของฟลอยด์ แต่ในขณะเดียวกัน ปธน. ทรัมป์ ก็ได้เติมเชื้อไฟในเหตุตึงเครียดนี้ ด้วยการทวีตเรียกผู้ประท้วงในเมืองมินนิโซตาว่า “อันธพาล” และประกาศว่าจะไม่ยอมให้การประท้วงนำไปสู่การจลาจล คนไม่เคารพกฎหมาย จนเกิดอนาธิปไตย

OBAMA TWEET

อดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา กล่าวเมื่อวันศุกร์ว่าความตายของนายจอร์จ ฟลอยด์ ระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่อาจเป็น “เรื่องปกติ” ในสังคมอเมริกันปัจจุบันได้อีกต่อไป และว่าเป็นหน้าที่ของทางการมินนิโซตาในการเปิดการสอบสวนเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด เพื่อสร้างความปกติใหม่ ในการปฏิบัติกับทุกคนทุกเชื้อชาติอย่างเท่าเทียม

ส่วน โจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และตัวแทนจากพรรคเดโมแครตสู้ศึกเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เรียกร้องความยุติธรรมให้จอร์จ ฟลอยด์ ให้มีการปฏิรูปตำรวจ เพื่อให้เจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยรับผิดชอบต่อการกระทำและสร้างสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับประชาชน

ไบเดนยังกล่าวว่า “เราไม่สามารถหันไปมองทางอื่นได้ เราไม่สามารถเงียบเฉย เราไม่สามารถได้ยินคำว่า ‘หายใจไม่ออก’ แล้วไม่ลงมือทำอะไร”

ในแวดวงบันเทิง คนดังมากมายทั้งได้แสดงไม่พอใจต่อการกระทำของตำรวจ และร่วมไว้อาลัยนายฟลอยด์ ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย

FILE - Oprah Winfrey poses for photographers at a premiere in London.

โอปราห์ วินฟรีย์ (Oprah Winfrey) พิธีกรผิวสีและผู้ทรงอิทธิพลในวงการบันเทิงสหรัฐฯ แชร์ข้อความในทวิตเตอร์ว่าเธอไม่สามารถลบภาพของหัวเข่าของตำรวจที่อยู่บนลำคอของนายฟลอยด์ออกไปได้ “มันเป็นภาพที่ฉันเห็นทุกเช้าเมื่อลืมตาตื่น และติดตามฉันไปตลอดทั้งวันขณะที่ฉันทำอย่างอื่น เช่น รินกาแฟ หรือผูกเชือกรองเท้า และเวลาที่ฉันสูดลมหายใจ ฉันก็ได้คิดว่า เขาไม่มีโอกาสทำแบบนี้”

Rihanna

นักร้องสาวริฮานนา (Rihanna) โพสท์ภาพของนายฟลอยด์ ผ่านทวิตเตอร์และอินสตาแกรม พร้อมเขียนข้อความว่าการเห็นคนผิวสีถูก “ฆาตกรรมและถูกประชาทัณฑ์วันแล้ววันเล่า” ทำให้หัวใจเธอหนักอึ้ง พร้อมกล่าวถึง เดเรค ชอวิน (Derek Chauvin) อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้เข่ากดคอนายฟลอยด์ไว้ว่า “สีหน้าที่ยั่วยุ ความสาแก่ใจที่อยู่บนใบหน้าของไอ้คนเหยียดผิว ฆาตกร อันธพาล...ที่ชื่อ เดเรค ชอวิน ยังคงตามหลอกหลอนฉัน”

แมนดี้ มัวร์ (Mandy Moore) นักร้องนักแสดงผิวขาว โพสท์ในอินสตาแกรมว่า "การถูกตำรวจฆ่าตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับที่ 6 ของชายหนุ่มผิวดำในประเทศนี้" พร้อมทั้งส่งข้อความถึงเพื่อนชาวผิวขาวของเธอ ให้นำเอาความโกรธแค้นมาเปลี่ยนเป็นการกระทำ "เราจะนิ่งเฉยไม่ได้ เราจะเงียบไม่ได้ เราต้องพูดคุยกันเรื่องนี้กับครอบครัว เพื่อน และเพื่อนร่วมงานของเรา"

ในแวดวงกีฬา โคลิน แคปเปอร์นิค (Colin Kaepernick) อดีตควอเตอร์แบ็คชื่อดังของทีม San Francisco 49ers ซึ่งได้เริ่มประท้วงการใช้ความรุนแรงของตำรวจต่อชาวแอฟริกันอเมริกันมาเป็นเวลาหลายปี และตกเป็นเป้าโจมตีเรื่องการไม่เคารพเพลงชาติอเมริกัน ได้โพสท์ในทวิตเตอร์ และอินสตาแกรมในบ่ายวันศุกร์ ว่าเขาพร้อมจะช่วยออกค่าใช้จ่ายช่วยเหลือผู้ประท้วงในเมืองมินนิโซตา หากต้องมีการต่อสู้ทางกฎหมายเกิดขึ้น โดยจะเป็นการช่วยเหลือผ่านกลุ่ม Know Your Rights Camp ที่เขาตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการศึกษาและการต่อสู้ของหนุ่มสาวผิวสีในอเมริกา

FILE - In this Oct. 11, 2018, file photo, former NFL football quarterback Colin Kaepernick smiles on stage during W.E.B. Du Bois Medal ceremonies at Harvard University, in Cambridge, Mass.

นอกจากนี้ การเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ยังก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากต่างประเทศ นาย มูซซา ฟากิ มาฮามัท (Moussa Faki Mahamat) ผู้นำคณะกรรมการสหภาพแอฟริกา (African Union Commission) ที่มีสมาชิก 55 ประเทศในทวีปแอฟริกา ได้ออกมาประณาม “การฆาตกรรม” นายฟลอยด์ และกล่าวว่าองค์กรไม่ขอยอมรับการเลือกปฏิบัติต่อชาวอเมริกันผิวสี

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สถานทูตสหรัฐฯ ในหลายประเทศในทวีปแอฟริกา ยังได้ทำสิ่งที่ไม่ค่อยได้เห็นนัก โดยการออกแถลงการณ์ที่ระบุว่าไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย โดยเอกอัครราชทูตอเมริกาประจำประเทศคองโก ไมค์ แฮมเมอร์ (Mike Hammer) กล่าวว่าเขารู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่งต่อการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ และเห็นว่าผู้รักษากฎหมายและความสงบทั่วโลกควรจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง

สถานทูตสหรัฐฯ ในประเทศเคนยา และอูกานดา ได้ทวีตแถลงการณ์ลักษณะเดียวกัน ในขณะที่สถานทูตสหรัฐฯ ประเทศแทนซาเนีย และเคนยา ได้ทวีตแถลงการณ์ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ที่ระบุว่าจะดำเนินการตรวจสอบการเสียชีวิตของนายจอร์จ ฟลอยด์