กองเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ จะเทียบท่าที่เกาหลีใต้ในสัปดาห์นี้ โดยมีเป้าหมายแสดงแสนยานุภาพทางทะเลของสหรัฐฯ ท่ามกลางความกังวลว่าเกาหลีเหนืออาจทดสอบอาวุธนิวเคลียร์เร็ว ๆ นี้
แถลงการณ์ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ระบุว่า เรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน (USS Ronald Reagan) และกองเรือจู่โจม จะเทียบท่าที่เมืองปูซานในวันศุกร์นี้ และเจ้าหน้าที่ประจำกองเรือดังกล่าวจะเยี่ยมเยือนและกระชับสัมพันธ์กับทหารเรือเกาหลีใต้ รวมทั้ง "แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม" ซึ่งกันและกัน
หลังจากนั้น กองทัพเรือของสองประเทศจะซ้อมรบร่วมกันในเขตนอกชายฝั่ง "เพื่อเพิ่มความเตรียมพร้อมทางการทหาร และแสดงแสนยานุภาพของพันธมิตร (ระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้) ในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงบนคาบสมุทรเกาหลี" แถลงการณ์ของกองทัพเรือระบุ
ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่เรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ จะเข้าร่วมในการซ้อมรบใกล้กับเกาหลีใต้ หลังจากเกิดความตึงเครียดระดับสูงระหว่างเกาหลีเหนือกับรัฐบาลอเมริกันในสมัยนั้นภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก่อนที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
SEE ALSO: สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ จับมือร่วมตอบโต้ภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือปัจจุบัน ความตึงเครียดทางการทูตระหว่างสองประเทศกลับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง และดูเหมือนทั้งสองฝ่ายต่างพยายามแสดงแสนยานุภาพทางทหารของตนเองเพื่อข่มขวัญกันและกัน
ตั้งแต่ต้นปีมานี้ รัฐบาลเปียงยางได้ทดสอบขีปนาวุธมากที่สุดเป็นสถิติใหม่ นอกจากนี้ทั้งสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ต่างเชื่อว่า เกาหลีเหนืออาจกำลังเตรียมทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 7 เร็ว ๆ นี้
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน ประกาศว่า เกาหลีเหนือจะไม่ยกเลิกการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และจะไม่ใช้นิวเคลียร์เป็นเครื่องต่อรองกับชาติตะวันตก นอกจากนี้ สภาเกาหลีเหนือยังได้ผ่านกฎหมายใหม่ที่อนุญาตให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้ได้ทันทีในกรณีที่ถูกโจมตีโดย "กองกำลังศัตรู"
ทั้งสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ต่างออกมาประณามกฎหมายดังกล่าวพร้อมรับปากว่าจะมีการตอบโต้อย่างเด็ดขาดหากเกาหลีเหนือใช้นิวเคลียร์โจมตีจริง
เกาหลีใต้ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดี ยูน ซุก-ยอล ผู้เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤษภาคม หันมากระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ มากขึ้น พร้อมกับสนับสนุนให้มีการแสดงพลกำลังทางการทหารของเกาหลีใต้เพื่อป้องกันการรุกรานจากเพื่อนบ้านทางเหนือด้วย
ทั้งนี้ เกาหลีใต้ยังคงไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง แต่อาศัยระบบป้องกันขีปนาวุธนิวเคลียร์ที่สหรัฐฯ เป็นผู้ติดตั้งให้ ในการป้องกันตนเอง
- ที่มา: วีโอเอ