Your browser doesn’t support HTML5
เมื่อวันอังคาร ประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐฯ เข้าร่วมการประชุมกับผู้นำของประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนทางระบบวิดีโอออนไลน์และประกาศให้ความช่วยเหลือมูลค่า 102 ล้านดอลลาร์เพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
โดยประธานาธิบดีไบเดนกล่าวต่อที่ประชุมร่วมระหว่างผู้นำของประเทศอาเซียนกับสหรัฐฯ ว่าการเป็นหุ้นส่วนร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายมีความสำคัญสำหรับภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ซึ่งนับเป็นรากฐานสำคัญของความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองที่มีร่วมกันมานานหลายสิบปีแล้ว ประธานาธิบดีไบเดนยังได้ย้ำถึงความสำคัญของกลุ่มประเทศอาเซียนและเรียกความสัมพันธ์นี้ว่าเป็นหมุดสำคัญของการรักษาไว้ซึ่งความสามารถในการปรับตัวเพื่อฟื้นคืนสภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความมั่นคงของภูมิภาคนี้ด้วย
พร้อมกันนี้สหรัฐฯ ได้ประกาศการให้ความช่วยเหลือ 102 ล้านดอลลาร์แก่อาเซียนเพื่อใช้ในแผนงานด้านสุขภาพ เช่น การป้องกันและการรับมือกับโรคโควิด-19 รวมทั้งโรคติดต่ออื่นๆ ด้านการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การสนับสนุนความร่วมมือด้านการค้าและนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งในด้านการศึกษาและการสร้างความทัดเทียมระหว่างเพศด้วย
ถึงแม้การเข้าร่วมการประชุมสุดยอดของประธานาธิบดีไบเดนครั้งนี้จะแสดงถึงความสนใจและความสำคัญที่สหรัฐฯ กลับมาให้กับภูมิภาคนี้หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้เข้าร่วมการประชุมด้วยตนเองครั้งล่าสุดที่กรุงมนิลาในปี 2017 ก็ตาม แต่นักวิเคราะห์บางคนก็ชี้ว่าสหรัฐฯ ยังอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบเมื่อเทียบกับประเทศมหาอำนาจรายอื่นซึ่งต้องการสร้างความสัมพันธ์และอิทธิพลกับกลุ่มประเทศอาเซียน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นาย Marc Mealy รองผู้อำนวยการด้านนโยบายขององค์การ US-Asean Business Council แสดงความยินดีที่ประธานาธิบดีไบเดนนำสหรัฐฯ กลับเข้ามามีบทบาทกับอาเซียนอีกครั้งหนึ่ง โดยชี้ว่าเป็นที่คาดกันว่าภายในปีค.ศ. 2030 ภูมิภาคนี้จะเป็นประชาคมเศรษฐกิจซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
อย่างไรก็ตามถึงแม้สหรัฐฯ จะถูกมองว่ามีบทบาทสำคัญเรื่องการให้หลักประกันด้านความมั่นคงสำหรับอาเซียนก็ตาม แต่วอชิงตันก็ยังตามหลังจีนอยู่ในแง่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเพราะขณะนี้จีนเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียนและทั้งสองฝ่ายเพิ่งทำความตกลงในข้อตกลงการค้าเสรี RCEP ซึ่งครอบคลุมผลผลิต GPP ราว 30 เปอร์เซ็นต์ของโลกโดยสหรัฐฯ ไม่มีส่วนร่วมอยู่ด้วย
ส่วนนาย Prashanth Parameswaran นักวิเคราะห์ด้านเอเชียของ Wilson Center ในสหรัฐฯ ก็ชี้ว่าสำหรับประเด็นที่สำคัญต่างๆ หลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นการค้าหรือสิ่งแวดล้อมนั้น สหรัฐฯ มักมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ริเริ่มแต่บางครั้งสหรัฐฯ ก็มักถอนตัวออกไป และในแง่ภูมิรัฐศาสตร์แล้ววอชิงตันยังอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือออสเตรเลียที่ต้องการเข้ามามีบทบาทอิทธิพลกับอาเซียน ดังนั้นสหรัฐฯ จึงจำเป็นจะต้องทำงานให้มากขึ้นเพื่อให้ได้รับความสนับสนุนจากอาเซียนด้วย
ในส่วนที่เกี่ยวกับเมียนมาซึ่งปีนี้ผู้นำของเมียนมาไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำของอาเซียนนั้น นาย Prashanth Parameswaran นักวิเคราะห์ของ Wilson Center ได้ชี้ว่าการตัดสินใจของอาเซียนถือเป็นการส่งสัญญาณอย่างสำคัญสำหรับปัญหาซึ่งอาเซียนไม่สามารถปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงได้ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในเมียนมาขณะนี้ไม่ใช่ปัญหาของเมียนมาเองโดยเฉพาะแต่นับเป็นปัญหาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นปัญหาของอาเซียนด้วย
และสำหรับเรื่องเมียนมานั้น นาย Jake Sullivan ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวว่าวอชิงตันยังคงสนับสนุนข้อเสนอห้าข้อของสมาคมอาเซียนเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาการเมืองในเมียนมา และย้ำว่าสหรัฐฯ จะยังคงสนับสนุนประชาชนชาวเมียนมาสำหรับเส้นทางไปสู่ประชาธิปไตย และจะสนับสนุนเรื่องการคุ้มครองความมั่นคงปลอดภัยและสิทธิมนุษยชนของผู้คนในเมียนมาต่อไปด้วย
ที่มา: VOA