Your browser doesn’t support HTML5
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคมประธานาธิบดีไบเดนลงนามในร่างกฎหมายต่อต้านอาชญากรรมจากความเกลียดชังฉบับใหม่ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Jabara-Heyer NO HATE Act จากชื่อของ Khalid Jabara กับ Heather Heyer เหยื่อของอาชญากรรมดังกล่าวซึ่งไม่มีการรายงานต่อหน่วยงาน FBI
และกฎหมายใหม่ฉบับนี้ได้เพิ่มกลไกและช่วยสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานรักษากฎหมายในระดับท้องถิ่นโดยเฉพาะเรื่องการรายงานอาชญากรรมที่มีสาเหตุมาจากความเกลียดชังด้านเชื้อชาติและสีผิว
เมื่อปีที่แล้ว อาชญากรรมที่มีสาเหตุจากความเกลียดชังหรือ Hate Crimes ที่มุ่งเป้าต่อคนเชื้อสายเอเชียในเขตเมืองใหญ่ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงราว 150% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นถึงเกือบสองเท่าตัวเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ทั้งนี้ ตามตัวเลขของศูนย์ศึกษาเรื่องแนวคิดสุดโต่งและความเกลียดชังของมหาวิทยาลัย California State University ที่เมืองซานเบอร์นาดีโน และกฎหมายต่อต้านอาชญากรรมจากความเกลียดชังซึ่งประธานาธิบดีไบเดนเพิ่งลงนามเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ก็ได้ให้เครื่องมือกับทรัพยากรบางอย่างเพิ่มเติมแก่เจ้าหน้าที่รักษากฎหมายทั้งของรัฐบาลกลางและรัฐบาลในระดับท้องถิ่น
ประการแรกสุด กฎหมายใหม่นี้กำหนดให้มีการตั้งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโดยเฉพาะในกระทรวงยุติธรรมของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เพื่อช่วยให้การพิจารณาและระบุชี้ว่าอาชญากรรมใดถือเป็นการกระทำซึ่งมีเหตุจูงใจจากความเกลียดชังหรือไม่สามารถทำได้เร็วขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินคดีตามที่เหมาะสมสามารถเป็นไปได้อย่างรวดเร็วด้วย
อีกทั้งกฎหมายฉบับนี้ยังให้ทรัพยากรสนับสนุนต่าง ๆ แก่หน่วยงานตำรวจในระดับท้องถิ่น เพื่อช่วยในการระบุและการรายงานเกี่ยวกับ Hate Crimes นอกจากนั้นกฎหมายดังกล่าวยังกำหนดให้กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ช่วยปรับปรุงระบบการรวบรวมข้อมูลและการรายงานเกี่ยวกับ Hate Crimes และช่วยให้แนวทางปฏิบัติสำหรับหน่วยงานรักษากฎหมายระดับท้องถิ่นเพื่อการรายงาน Hate Crimes ด้วยระบบออนไลน์ในภาษาต่าง ๆ ผ่านการมอบเงินช่วยเหลือ
รวมทั้งยังให้อำนาจผู้พิพากษาที่จะกำหนดให้ผู้ต้องโทษในคดี Hate Crimes ต้องเข้ารับการศึกษาเพื่อปรับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยถือเป็นเงื่อนไขส่วนหนึ่งของการคุมประพฤติด้วย
อย่างไรก็ตาม เขี้ยวเล็บและความสำเร็จของกฎหมายใหม่นี้จะมีมากน้อยแค่ไหนนั้นก็ขึ้นกับความร่วมมือจากหน่วยงานรักษากฎหมายในระดับท้องถิ่นเป็นสำคัญ เพราะขณะที่ฝ่ายสิทธิพลเมืองของกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ฟ้องร้องดำเนินคดี Hate Crimes ในระดับรัฐบาลกลางนั้น คดี Hate Crimes ส่วนใหญ่มักถูกฟ้องร้องในระดับรัฐบาลมลรัฐ
คุณสตีเฟน กิลสัน อดีตอัยการด้าน Hate Crimes ของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งขณะนี้สอนอยู่ที่คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัย Pittsburg ได้กล่าวว่า ความหวังก็คือกระบวนการพิจารณาทบทวนที่เร็วขึ้นจะเป็นผลให้กระทรวงยุติธรรมเข้ามาฟ้องร้องคดี Hate Crimes ได้มากขึ้นด้วย
แต่นอกจากเรื่องการตั้งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในระดับรัฐบาลกลางเพื่อพิจารณาทบทวนว่าคดีใดเป็น Hate Crimes หรือไม่แล้ว กลไกที่สำคัญมากกว่าอาจจะเป็นเรื่องการปรับปรุงวิธีรายงาน Hate Crimes เพราะภายใต้กฎหมายเก่าฉบับปี ค.ศ.1990 เอฟบีไอหรือสำนักงานสืบสวนกลางของสหรัฐฯ จะรวบรวมสถิติข้อมูลเกี่ยวกับ Hate Crimes ซึ่งรายงานจากหน่วยงานรักษากฎหมายในระดับท้องถิ่นด้วยความสมัครใจ และมักเป็นผลให้มีการรายงานตัวเลขสถิติที่ต่ำกว่าความเป็นจริง
ดังนั้น กฎหมายฉบับใหม่จึงตั้งกองทุนซึ่งหน่วยงานรักษากฎหมายในระดับท้องถิ่นสามารถยื่นขอรับเงินสนับสนุนเพื่อนำไปใช้ในการฝึกอบรมเกี่ยวกับการระบุและการสืบสวน Hate Crimes และตั้งสายด่วนฮอทไลน์เพื่อช่วยให้มีการรายงานเกี่ยวกับ Hate Crimes นี้มากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม อาจารย์สตีเฟน กิลสัน ก็เตือนว่า ความสำเร็จและผลแตกต่างซึ่งกฎหมายใหม่นี้จะสร้างขึ้นได้ย่อมขึ้นอยู่กับความสมัครใจร่วมมือของหน่วยงานในท้องถิ่นเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขอรับเงินสนับสนุนจากกระทรวงยุติธรรมเพื่อนำไปปรับปรุงระบบงานด้าน Hate Crimes ของตน
โดยอาจารย์กิลสัน ชี้ว่า หากหน่วยงานรักษากฎหมายในระดับท้องถิ่นตัดสินใจใช้ประโยชน์จากกลไกและทรัพยากรที่กฎหมาย Hate Crimes ฉบับใหม่หยิบยื่นให้เพื่อปรับปรุงการฝึกอบรม การสร้างความตระหนักตื่นตัว และการรายงาน Hate Crimes แล้ว กฎหมายฉบับนี้ก็น่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาและอุปสรรคในการจัดการกับ Hate Crimes ที่กฎหมายฉบับก่อนไม่สามารถทำได้นั่นเอง