สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ หรือ เอฟดีเอ (FDA) อนุมัติให้ใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ (molnupiravir) ของบริษัทเมอร์ค (Merck) สำหรับให้ผู้ป่วยโควิดสามารถกินรักษาอาการป่วยได้ด้วยตัวเอง ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี
ยาโมลนูพิราเวียร์ของเมอร์ค นับเป็นยาเม็ดรักษาโควิดชนิดที่สองที่ผ่านการรับรองของเอฟดีเอในเวลาสองวัน หลังจากเมื่อวันพุธ เอฟดีเอเพิ่งอนุมัติยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) ของบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer)ให้ใช้รักษาโควิดได้เป็นชนิดแรก
ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเชื่อว่า ยาแพกซ์โลวิดของไฟเซอร์จะเป็นทางเลือกแรกในการรักษาอาการป่วยจากโควิด-19 เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูงกว่าและมีอาการข้างเคียงน้อยกว่า นั่นหมายความว่ายาโมลนูพิราเวียร์อาจจะมีบทบาทน้อยลงกว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนตอนที่มีการเปิดตัวยาสูตรนี้ใหม่ ๆ
รายงานชี้ว่า ยาโมลนูพิราเวียร์มีประสิทธิผลในการรักษาอาการป่วยรุนแรงจากโควิดได้น้อยกว่าที่ประกาศไว้ในตอนแรก นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการข้างเคียง รวมทั้งอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติของทารกแรกเกิดได้ด้วย
สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ รับรองให้ใช้ยาโมลนูพิราเวียร์กับผู้ใหญ่ที่มีอาการเริ่มต้นของโควิด-19 และมีความเสี่ยงที่จะเข้ารักษาในโรงพยาบาล รวมทั้งผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวเนื่องจากน้ำหนักตัวเกินและโรคเกี่ยวกับหัวใจ
อย่างไรก็ตาม เอฟดีเอเตือนว่ายาชนิดนี้ไม่เหมาะกับผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีเนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของกระดูกและกระดูกอ่อน รวมทั้งจะติดฉลากเตือนสำหรับสตรีมีครรภ์ไว้ด้วย
ทางด้านผู้บริหารของเมอร์ค นิค คาร์ทโซนิส กล่าวว่า นักวิจัยของเมอร์คยังคงศึกษาเพื่อให้สามารถใช้ยาโมลนูพิราเวียร์กับเด็กและเยาวชนได้ และว่าที่ผ่านมา พบผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อยต่อกลุ่มตัวอย่างเพียงไม่กี่เปอร์เซนต์จากจำนวนราว 1,000 คน
ถึงกระนั้น การทดสอบพบว่ายาเม็ดรักษาโควิดของไฟเซอร์ซึ่งผ่านการรับรองเมื่อวานนี้ มีความเสี่ยงน้อยกว่าและมีประสิทธิผลสูงกว่ายาของเมอร์คราวสามเท่า โดยสามารถลดอัตราการป่วยรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลลงได้เกือบ 90% เทียบกับตัวเลขเพียง 30% ของโมลนูพิราเวียร์
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐฯ จะเป็นผู้ซื้อยาทั้งสองชนิดนี้เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ป่วยโควิดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
รัฐบาลสหรัฐฯ จะจ่ายค่ายาโมลโนพิราเวียร์ในราคา 700 ดอลลาร์ต่อชุด และคาดว่าจะสามารถรักษาผู้ป่วยโควิดได้ราว 3 ล้านคน โดยยานี้ต้องรับประทานครั้งละ 4 เม็ด วันละสองครั้ง เป็นเวลา 5 วันติดต่อกัน
เจ้าหน้าที่ของเมอร์คกล่าวว่า ยาโมลโนพิราเวียร์หลายแสนชุดจะออกสู่ตลาดในสหรัฐฯ ในเวลาไม่กี่วัน และอีกหลายล้านชุดจะผลิตออกมาในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
- ที่มา: สำนักข่าวเอพี