ผู้นำกองทัพสหรัฐฯ - จีน พบหารือที่การประชุม 'แชงกรี-ลา' ณ สิงคโปร์

U.S. Defense Secretary Lloyd Austin underscored the importance of the People’s Liberation Army engaging in substantive dialogue on improving crisis communications and reducing strategic risk.

ผู้นำกองทัพสหรัฐฯ - และจีน ร่วมหารือกันในวันศุกร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งชาติจีน พลเอกเว่ย เฟ็งเหอ พบเจรจากันในการหารือนอกรอบของการประชุมด้านความมั่นคงประจำปี แชงกรี-ลา ไดอะล็อก (Shangri-La Dialogue) ที่ประเทศสิงคโปร์

แถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือ เพนตากอน ระบุว่า รัฐมนตรีทั้งสองคนหารือกันเรื่องความสัมพันธ์และความมั่นคงในภูมิภาค รวมถึงโครงการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ และสงครามในยูเครน

แถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหมจีนในวันศุกร์ระบุว่า รัฐมนตรีเว่ยได้กล่าวกับรัฐมนตรีออสตินว่าจีนจะไม่ลังเลหากต้องทำสงครามกับใครก็ตามที่พยายาม "แบ่งแยก" ไต้หวันออกจากจีน

สำหรับประเด็นเรื่องยูเครนนั้น รมต.เว่ย กล่าวว่า จีนยึดมั่นหลักการความเป็นกลางและความยุติธรรม และจะพยายามสนับสนุนให้เกิดสันติภาพและการเจรจา แต่จีนก็พร้อมที่จะตอบโต้ใครก็ตามที่ต้องการใช้สงครามในยูเครนเพื่อนก่ออันตรายต่อผลประโยชน์ของจีนเช่นกัน

ด้านเพนตากอนมีแถลงการณ์ว่า "รัฐมนตรีออสตินได้เน้นย้ำต่อรัฐมนตรีเว่ยว่า สหรัฐฯ ยังคงยึดมั่นตามนโยบายจีนเดียวที่ใช้มานานหลายสิบปี" ซึ่งหมายความว่าสหรัฐฯ ยังมิได้ยอมรับไต้หวันว่าเป็นประเทศอิสระแต่อย่างใด และว่า "รัฐมนตรีออสตินได้ยืนยันถึงความสำคัญของการสร้างสันติภาพและความมั่นคงข้ามช่องแคบไต้หวัน ต่อต้านการใช้อำนาจฝ่ายเดียวเพื่อเปลี่ยนสถานะของชาติใดชาติหนึ่ง และเรียกร้องให้จีนหลีกเลี่ยงการกระทำใด ๆ ที่สั่นคลอนเสถียรภาพของไต้หวัน"

Chinese Minister of National Defense General Wei Fenghe heads to a bilateral meeting with U.S. Defense Secretary Lloyd Austin on the sidelines of the Shangri-La Dialogue in Singapore, June 10, 2022.

ด้านโฆษกกระทรวงความมั่นคงแห่งชาติจีน กล่าวว่า รัฐมนตรีเว่ยได้คัดค้านข้อตกลงขายอาวุธของสหรัฐฯ ให้แก่ไต้หวันครั้งล่าสุด ซึ่งขัดแย้งกับ "นโยบายจีนเดียว" และยังถือเป็นการคุกคามอธิปไตยและผลประโยชน์แห่งชาติของจีน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และสะเทือนความมั่นคงบริเวณช่องแคบไต้หวันด้วย

รัฐมนตรีเว่ยยังกล่าวด้วยว่า สหรัฐฯ ควรทำหน้าที่สร้างเสถียรภาพในทะลจีนใต้ ไม่ใช่การสร้างปัญหา หรือปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งในภูมิภาคนี้

อย่างไรก็ตาม โฆษกกระทรวงความมั่นคงแห่งชาติจีน กล่าวว่า การประชุมที่สิงคโปร์ครั้งนี้ยังมีผลด้านบวกอย่างน้อยหนึ่งประกาณ คือผู้แทนของจีนและสหรัฐฯ ต่างเห็นพ้องกันให้เจรจาต่อไปในประเด็นการสื่อสารทางทหารและความร่วมมือระหว่างกองทัพของสองประเทศผ่านช่องทางทางการทูต

ทั้งนี้ การประชุมแชงกรี-ลา ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี หลังเกิดการระบาดของโควิด ซึ่งจะมีขึ้นจนถึงวันอาทิตย์ โดยมีรัฐมนตรีกลาโหมและนักการทูตจาก 42 ประเทศเข้าร่วม รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ผู้นำธุรกิจ และบริษัทอาวุธต่าง ๆ

  • ที่มา: วีโอเอ