หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติเปิดเผยว่า กลุ่มอาชญากรหลายกลุ่มทำการหลอกประชาชนนับแสนคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เข้าร่วมปฏิบัติการผิดกฎหมายด้วยการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต (scam) หลากหลายรูปแบบ ตามรายงานของเอพี
สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุรายงานฉบับใหม่ที่อ้างข้อมูลจาก “แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้” และระบุว่า มีประชาชนไม่น้อยกว่า 120,000 คนจากเมียนมาและราว 100,000 คนจากกัมพูชา “อาจถูกหน่วงเหนี่ยวตัวไว้ในสถานการณ์ที่พวกเขาถูกบังคับให้ต้องร่วมทำการสแกมออนไลน์”
รายงานชิ้นนี้ยังเปิดเผยให้เห็นถึงระดับความรุนแรงของการสแกมที่เป็นอาชญากรรมทางไซเบอร์ซึ่งกลายมาเป็นปัญหาใหญ่ในเอเชียอยู่ และมีผู้คนมากมายถูกหลอกให้ต้องทำงานเยี่ยงทาสและร่วมกระบวนการหลอกลวงผู้คนทางอินเทอร์เน็ต
สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนยูเอ็นยังระบุด้วยว่า ลาว ฟิลิปปินส์ และไทยก็เป็นประเทศปลายทางหรือประเทศทางผ่านของการนำส่งเหยื่ออาชญากรรมดังกล่าวนับหมื่นคน โดยอาชญากรหันมาพุ่งเป้าหลอกลวงผู้อพยพด้วยการนำเสนองานปลอม ๆ ให้
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวยอมรับว่า ด้วยระดับของปฏิบัติการผิดกฎหมายประเภทนี้ที่ “ยิ่งใหญ่มหาศาล” การประเมินผลกระทบทั้งในแง่ของผู้คนและรายได้เป็นเรื่องยาก แต่ก็เชื่อกันว่า ตัวเงินนั้นน่าจะอยู่ในระดับนับพัน-นับหมื่นล้านดอลลาร์ในแต่ละปี
รายงานนี้เปิดเผยว่า เหยื่อบางคนถูกทรมาน ตกเป็นเป้าการลงโทษอันโหดร้ายและการใช้ความรุนแรงทางเพศ รวมทั้งการคุมขังด้วย
SEE ALSO: รอง ผบ.ตร.ย้ำเดินหน้าปราบอาชญากรจีนข้ามชาติ ค้ายา-ค้ามนุษย์
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตำรวจฟิลิปปินส์พร้อมกองกำลังคอมมานโดทำการบุกทลายแก๊งอาชญากรออนไลน์และช่วยเหลือเหยื่อที่เป็นคนงานกว่า 2,700 คนที่มาจากจีน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และอีกหลายสิบประเทศ
และเมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนซึ่งอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพบรรลุข้อตกลงยกระดับการควบคุมการข้ามแดนและการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการให้ความรู้ต่อสาธารณชนเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรมต่าง ๆ ที่ลักลอบขนคนงานข้ามประเทศเพื่อไปทำงานเกี่ยวกับการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตแล้ว
- ที่มา: เอพี