สหประชาชาติและรัฐบาลหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯ แสดงความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองในเมียนมา หลังจากที่กองทัพเมียนมายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยนางออง ซาน ซู จี เมื่อวันจันทร์
เลขาธิการสหประชาชาติ แอนโตนิโอ กูเตียเรซ มีแถลงการณ์ว่า "สหประชาชาติมีความกังวลอย่างยิ่งต่อการประกาศยึดกุมอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ของกองทัพเมียนมา สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นความเสียหายร้ายแรงต่อกระบวนการปฏิรูปประชาธิปไตยในเมียนมา"
ที่กรุงวอชิงตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโธนี บลิงเคน กล่าวว่า "สหรัฐฯ ยืนเคียงข้างประชาชนชาวเมียนมา เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เสรีภาพ สันติภาพและการพัฒนา และขอให้กองทัพเมียนมาปรับเปลี่ยนการกระทำนี้ทันที"
SEE ALSO: โฆษกพรรครัฐบาลเมียนมายืนยัน 'ออง ซาน ซู จี' ถูกจับกุมแล้ว
เมื่อวันจันทร์ ทำเนียบขาวมีแถลงการณ์ว่า "สหรัฐฯ หวั่นเกรงกับรายงานที่ว่ากองทัพเมียนมากำลังทำลายกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในเมียนมา" และ "สหรัฐฯ ขอให้กองทัพเมียนมาและทุกฝ่ายยึดมั่นต่อหลักการทางประชาธิปไตยและหลักกฎหมาย และปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมในวันนี้"
"สหรัฐฯ ต่อต้านความพยายามใด ๆ ก็ตามในการเปลี่ยนผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา หรือขัดขวางการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในเมียนมา และพร้อมจะดำเนินการต่อผู้ที่รับผิดชอบในกรณีที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในการกระทำที่เกิดขึ้น" แถลงการณ์ของทำเนียบขาวระบุ
สหภาพยุโรป อังกฤษ ออสเตรเลีย อินเดีย และสิงคโปร์ ต่างแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในเมียนมาในขณะนี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนซึ่งถือเป็นคู่ค้าสำคัญที่สุดของเมียนมา ระบุว่ากำลังรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนมีแถลงการณ์ว่า "จีนหวังว่าทุกฝ่ายในเมียนมาจะสามารถจัดการความแตกต่างนี้ได้ภายใต้รัฐธรรมนูญและกรอบกฎหมาย ตลอดจนรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและสังคมไปพร้อม ๆ กัน"
SEE ALSO: สรุปประเด็นสำคัญจากเหตุการณ์ทหาร "ยึดอำนาจ" ออง ซาน ซูจีในวันจันทร์ กองทัพเมียนมาเข้าควบคุมการปกครองประเทศ และจะทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองเป็นเวลาหนึ่งปีหลังการประกาศภาวะฉุกเฉิน
กองทัพเมียนมาอ้างว่ามีการโกงการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยภายใต้การนำของนางออง ซาน ซู จี ได้ที่นั่งในสภาเกินกึ่งหนึ่งอย่างชัดเจน
ทั้งกองทัพเมียนมาและพรรคฝ่ายค้าน Union Solidarity and Development Party (USDP) ซึ่งมีสมาชิกเป็นอดีตนายทหาร กล่าวหาว่ามีความผิดปกติในรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งราว 8.6 ล้านชื่อใน 314 หมู่บ้านซึ่งอาจนำไปสู่การกาบัตรซ้ำซ้อนหรือการทำผิดอื่น ๆ ในการเลือกตั้งคร้้งที่ผ่านมา แม้ไม่มีหลักฐานยืนยันการกล่าวหานี้
ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งของเมียนมาปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าเกิดการโกงเลือกตั้งตามที่กองทัพอ้าง