อันโตนิโอ กูเทอเรซ เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ (UN) เรียกร้องในวันจันทร์ ให้เพิ่มการส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์เข้าไปในฉนวนกาซ่าเพื่อสู้กับวิกฤตความอดอยาก และเผยด้วยว่า เริ่มเห็นสัญญาณความเห็นพ้องในระดับนานาชาติ ที่อยากสื่อสารถึงความจำเป็นในการหยุดยิงไปยังอิสราเอล ตามการรายงานของรอยเตอร์
กูเทอเรซยังกล่าวระหว่างการเดินทางเยือนประเทศจอร์แดนด้วยว่า เห็นกระแสความเห็นไปในทางเดียวกันที่จะบอกอิสราเอลว่า การบุกภาคพื้นดินเข้าไปในราฟาห์ อาจจะส่งผลให้เกิดภัยพิบัติด้านมนุษยธรรม
ราฟาห์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของฉนวนกาซ่าและมีพรมแดนติดกับอียิปต์ กลายเป็นจุดพักพิงสุดท้ายของประชากรครึ่งหนึ่งของฉนวนกาซ่า ซึ่งต้องพลัดถิ่นจากการสู้รบในพื้นที่อื่น ๆ ตลอดช่วงเวลามากกว่าห้าเดือนของสงครามนี้
กูเทอเรซกล่าวว่า อิสราเอลควรยกเลิกการกีดขวางการจัดส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ รวมทั้งอนุญาตให้รถขนส่งปัจจัยความช่วยเหลือของสำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานแห่งสหประชาชาติ สำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (UNRWA) เข้าไปในพื้นที่ตอนเหนือของกาซ่าซึ่งกำลังเผชิญภัยความอดอยาก
SEE ALSO: ความหิวโหยคร่าชีวิตในกาซ่า ปชช.ต้มหญ้ากินประทังชีพ“มันเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่จะให้มีความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมจำนวนมากในตอนนี้ นั่นหมายถึงการเปิดจุดเข้าพื้นที่มากขึ้น หมายถึงการรวบรวมความพยายามของทุกภาคส่วนโดยไม่มีอุปสรรคและข้อจำกัดจากฝั่งอิสราเอล” กูเทอเรซกล่าว
ตั้งแต่สงครามในกาซ่าเริ่มต้น อิสราเอลปิดกั้นการนำเข้าอาหาร ยา และเชื้อเพลิงของฉนวนกาซ่า โดยหน่วยงานให้ความช่วยเหลือให้ข้อมูลว่า แม้ในเวลาต่อมา อิสราเอลจะอนุญาตให้มีการนำส่งปัจจัยความช่วยเหลือ แต่ก็ต้องเจออุปสรรคจากมาตรการตรวจสอบและความลำบากในการเคลื่อนย้ายสิ่งของข้ามพื้นที่สงคราม
อิสราเอลปฏิเสธว่าไม่ได้ปิดกั้นการนำส่งความช่วยเหลือเข้าไปในกาซ่า และความรับผิดชอบในการจัดส่งต่าง ๆ นั้น อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การสหประชาชาติและหน่วยงานด้านมนุษยธรรมที่เข้าไปในพื้นที่ นอกจากนั้นยังกล่าวโทษกลุ่มฮามาสว่า ขโมยสิ่งของบรรเทาทุกข์ ซึ่งทางฮามาสก็ได้ออกมาปฏิเสธเช่นกัน
อัยมาน ซาฟาดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจอร์แดน แสดงความยินดีกับมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในวันจันทร์ ที่เรียกร้องให้มีการหยุดยิงและกดดันอิสราเอลให้อนุญาตการส่งความช่วยเหลือโดยไม่มีการปิดกั้น โดยระบุว่า มติดังกล่าวคือการสื่อสารว่า “สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนั้นต้องจบลง”
ปัจจุบัน จอร์แดนเป็นที่พักพิงของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์จำนวน 2,400,000 คน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากที่สุดในจำนวนประเทศที่ตั้งอยู่ติดกับอิสราเอล
UNRWA ตกอยู่ในสภาพวิกฤตหลังอิสราเอลกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ขององค์กรจำนวนหลายสิบคน มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีอิสราเอลโดยกลุ่มฮามาสเมื่อ 7 ตุลาคม ทำให้มีหลายประเทศงดให้การสนับสนุน UNRWA แต่ก็มีหลายชาติที่กลับมาให้การสนับสนุนงบประมาณอีกครั้งในเวลาต่อมา
- ที่มา: รอยเตอร์