รายงานฉบับใหม่ขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ชั้นโอโซนที่ปกป้องโลกค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในระดับที่จะปิดหลุมโอโซนเหนือทวีปแอนตาร์กติกาได้อย่างสมบูรณ์ในเวลาประมาณ 43 ปีข้างหน้า
การประเมินทางด้านวิทยาศาสตร์ด้านการสูญเสียชั้นโอโซน (Scientific Assessment of Ozone Depletion) ที่จัดทำขึ้นทุก ๆ 4 ปี พบว่า การฟื้นตัวนี้กำลังดำเนินอยู่ ซึ่งเป็นเวลานานกว่า 35 ปีมาแล้ว หลังจากที่ทุกประเทศทั่วโลกเห็นพ้องที่จะยุติการผลิตสารเคมีที่ทำลายชั้นโอโซนในชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งช่วยปกป้องโลกจากรังสีอันตรายที่มีความเชื่อมโยงกับการเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง ต้อกระจก และความเสียหายของผลผลิตการเกษตร
พอล นิวแมน (Paul Newman) ประธานร่วมของการประเมินทางวิทยาศาสตร์กล่าวว่า “จะเห็นได้ว่าสิ่งต่าง ๆ ดีขึ้นในชั้นสตราโตสเฟียร์ตอนบนและในหลุมโอโซน”
รายงานที่นำเสนอที่การประชุม American Meteorological Society ในเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด เมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า การฟื้นตัวของชั้นโอโซนนั้นดำเนินไปอย่างช้า ๆ ปริมาณโอโซนเฉลี่ยทั่วโลกที่สูง 18 ไมล์ หรือ 30 กิโลเมตรในชั้นบรรยากาศจะไม่กลับไปสู่ระดับก่อนการเบาบางในปี ค.ศ. 1980 จนกว่าจะถึงปี 2040 และจะไม่กลับสู่ระดับปกติในอาร์กติกจนกว่าจะถึงปี 2045
รายงานยังระบุด้วยว่า ชั้นโอโซนบริเวณทวีปแอนตาร์กติกาซึ่งบางจนเกิดเป็นรูโหว่ขนาดใหญ่ทุก ๆ ปีในชั้นบรรยากาศบริเวณนี้ จะยังไม่ได้รับการฟื้นฟูอย่างสมบูรณ์จนกว่าจะถึงปี 2066
นักวิทยาศาสตร์และบรรดานักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกต่างชื่นชมความพยายามในการรักษาหลุมโอโซนที่มีมานานแล้ว โดยมีจุดเริ่มต้นจากข้อตกลงในปี 1987 ที่เรียกว่าพิธีสารมอนทรีออล ว่าด้วยการห้ามใช้สารเคมีประเภทหนึ่งที่มักใช้ในสารทำความเย็นและสารแขวนลอยในอากาศ ซึ่งถือเป็นชัยชนะทางนิเวศวิทยาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งสำหรับมวลมนุษยชาติ
ศาสตราจารย์เพตเตร์รี ทาลัส (Petteri Taalas) เลขาธิการใหญ่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) กล่าวในแถลงการณ์ว่า “กิจกรรมของโอโซนนั้นเป็นแบบอย่างสำหรับการดำเนินการด้านสภาพอากาศ ความสำเร็จของเราในการเลิกใช้สารเคมีที่ทำลายโอโซนแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่สามารถทำได้และจำเป็นต้องทำ และการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน”
นิวแมน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ด้านโลก แห่งศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ดขององค์การนาซากล่าวว่า สารเคมีหลักสองชนิดที่เล็ดรอดออกไปที่ชั้นโอโซนนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าในชั้นบรรยากาศ และรายงานระบุว่า ระดับสารคลอรีนลดลง 11.5% นับตั้งแต่จุดสูงสุดในปี 1993 และโบรมีนซึ่งมีประสิทธิภาพในการทำลายชั้นโอโซน ลดลง 14.5% นับตั้งแต่จุดสูงสุดในปี 1999
นิวแมน กล่าวอีกว่า การที่ระดับโบรมีนและคลอรีน “หยุดเพิ่มขึ้นและกำลังลดลงนั้นเป็นข้อพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพของพิธีสารมอนทรีออลอย่างแท้จริง”
เดวิด ดับเบิลยู เฟฮีย์ (David W. Fahey) ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เคมี แห่งองค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ NOAA กล่าวว่า หลายทศวรรษที่ผ่านมา ผู้คนสามารถเข้าไปในร้านค้าและซื้อสารทำความเย็นอัดกระป๋องที่ทำลายชั้นโอโซน และทำให้ชั้นบรรยากาศเป็นมลพิษ แต่ตอนนี้ สารดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นสารต้องห้ามเท่านั้น แต่ยังไม่ค่อยมีใช้ตามบ้านหรือในรถยนต์อีกด้วย เพราะสิ่งเหล่านั้นถูกแทนที่ด้วยสารเคมีที่สะอาดกว่า
นิวแมน กล่าวต่อไปอีกว่า รูปแบบของสภาพอากาศตามธรรมชาติในทวีปแอนตาร์กติกาก็ส่งผลต่อระดับหลุมโอโซน โดยเฉพาะในฤดูใบไม้ร่วง และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลุมโอโซนก็ใหญ่ขึ้นเล็กน้อยด้วยเหตุนี้ แต่แนวโน้มโดยรวมคือหลุมโอโซนนี้กำลังฟื้นตัว
อิงเจอร์ แอนเดอร์เซน (Inger Andersen) ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กล่าวกับเอพีเมื่อต้นปีนี้ว่า "การฟื้นตัวดังกล่าวเป็นการช่วยชีวิตผู้คนราวปีละ 2 ล้านคนจากการป่วยเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง"
- ที่มา: เอพี