Your browser doesn’t support HTML5
คำเรียกร้องนี้มีขึ้นก่อนการประชุมสุดยอดของกลุ่มเศรษฐกิจจี 20 ในสัปดาห์นี้
ในจดหมายของเลขาธิการยูเอ็น ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน ซึ่งถูกเผยแพร่ในวันพุธ เขากล่าวว่า ภัยคุกคามต่อความเจริญรุ่งเรืองของมนุษยชาติกำลังทวีความรุนแรงขึ้น
นายกูเตอร์เรสได้กล่าวถึงปัญหาหลายด้านเช่น ความหิวโหยของประชากรหลายแห่งทั่วโลก มหันตภัยจากสภาพอากาศ และย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องเพิ่มศักยภาพให้กับสตรี และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อจัดการกับประเด็นด้านอาหารโลก
นอกจากนั้น เขากล่าวว่าความสัมพันธ์พหุภาคีควรได้รับการฟื้นฟูและรักษาไว้ และนานาชาติควรสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้โครงการ Sustainable Development Goals (SDGs) ของยูเอ็น
โครงการที่ว่านี้ ซึ่งถูกยกร่างโดยที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เมื่อ 3 ปีก่อน สามารถใช้เป็น ‘พิมพ์เขียว’ ในการจัดการกับสิ่งท้าทายที่น่ากลัวในอนาคตได้ โดยมีเนื้อหาครอบคลุม การแก้ปัญหาความยากจน การพัฒนาด้านการศึกษา สุขภาพ รวมถึงการปกป้องสภาพแวดล้อมโลก
และเป้าหมายต่างๆภายใต้ SDGs มีกำหนดระยะเวลาว่าต้องเกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ 12 ปีจากนี้
นายกูเตอร์เรส กล่าวต่อผู้สื่อข่าวก่อนการร่วมประชุม จี 20 ที่ประเทศอาร์เจนตินาว่า ตนหวังว่าผู้นำจี 20 จะร่วมผลักดันให้เกิดความคืบหน้าตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ปัจจุบันเกิดความขัดแย้งหลายแห่งทั่วโลก ซึ่งรวมถึงสงครามในประเทศเยเมน ที่ดำเนินมาเป็นเวลา 4 ปี และสร้างปัญหาการขาดแคลนอาหารขั้นใกล้วิกฤตต่อประชากร 14 ล้านคน ในครึ่งหนึ่งของประเทศเยเมน
ผู้นำสหประชาชาติ กล่าวว่าเขาอาจมีโอกาสทำให้เกิดการเริ่มต้นเจรจาเรื่องวิกฤตในเยเมนที่ประเทศสวีเดนต้นเดือนธันวาคม แต่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ในขณะนี้
ทั้งนี้ ซาอุดิอาระเบียเป็นผู้นำฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลเยเมน ร่วมกับประเทศพันธมิตร ช่วยกันโจมตีกบฏฮูติ(Houthi) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน
ตัวแทนจากซาอุฯที่จะเข้าร่วมประชุมสุดยอดจี20 คือมกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาล ซึ่งกำลังตกเป็นเป้าจากการเพ่งเล็งของนานาชาติ ว่าพระองค์มีบทบาทอย่างไรหรือไม่ต่อการสังหารโหด คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ Washington Post นายจามาล คาชอกกี เมื่อเดือนตุลาคม
นายกูเตอร์เรส บอกผู้สื่อข่าวว่าตนพร้อมที่จะพบกับรัชทายาทซาอุดิอาระเบียพระองค์นี้ เพื่อให้เกิดทางออกต่อวิกฤตในเยเมน
ในเรื่องภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติ เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ควรได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วน
เมื่อ 3 ปีก่อนผู้นำประเทศต่างๆ แสดงจุดยืนร่วมภายใต้ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อบรรเทาผลจากภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติ ในครั้งนั้น สหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา เป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจที่ร่วมลงนามในข้อตกลงดังกล่าว
แต่รัฐบาลอเมริกันปัจจุบันของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แสดงจุดยืนอย่างแข็งขันที่จะถอนอเมริกาจากข้อตกลงปารีส
นายกูเตอร์เรส กล่าวว่าประเทศกลุ่มจี 20 เป็นผู้ปล่อยแก๊สเรือนกระจกปริมาณสามในสี่ของแก๊สพิษดังกล่าวสู่ชั้นบรรยากาศโลก
เขาบอกว่าประเทศจี 20 สามารถ ร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าว และตนคิดว่าการสร้างเศรษฐกิจโลกเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยังสามารถเปิดโอกาสการลงทุนและการจ้างงานใหม่ๆอีกด้วย
(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Margaret Besheer)