Your browser doesn’t support HTML5
ผลการวิจัยเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศโลกโดยสหประชาชาติชิ้นสำคัญเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่าวิธีการใช้ที่ดินของมนุษย์อาจกลายเป็นกุญเเจสำคัญในการปรับตัวเข้ากับภาวะโลกร้อนหรืออาจจะสร้างหายนะเเก่โลกก็ได้
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ (U.N.'s Intergovernmental Panel on Climate Change) ระบุในรายงานชิ้นนี้ว่าการใช้ที่ดินของมนุษย์มีผลกระทบโดยตรงต่อร้อยละ 70 ของพื้นดินบนโลกที่ปลอดน้ำเเข็งเเละกิจกรรมการใช้ที่ดินของคนเราทำให้คุณภาพดินลดลงราว 1 ใน 4 ของพื้นที่ดินปลอดน้ำเเข็งทั้งหมด
รายงานการศึกษาที่ยาวหนึ่งพันหน้าชิ้นนี้ชี้ว่าพื้นดินเป็นทั้งเเหล่งกำเนิดเเละเเหล่งสั่งสมของเเก๊สเรือนกระจก พื้นดินอุ่นตัวขึ้นเร็วกว่าส่วนอื่นๆ ของโลกถึงสองเท่าตัวนับตั้งเเต่ก่อนหน้ายุคอุตสาหกรรม การอุ่นตัวขึ้นของพื้นดินนำไปสู่ภาวะเเห้งเเล้งที่เกิดขึ้นบ่อยเเละรุนแรงกว่าเดิมในหลายพื้นที่เเละมีฝนตกรุนเเรงในบางพื้นที่เเละเกิดคลื่นความร้อนบ่อยมากขึ้น
สหประชาชาติรายงานว่าการเปลี่ยนแปลงทางสภาพทางภูมิอากาศเหล่านี้ รวมทั้งการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล การละลายของดินเยือกเเข็งเเละอื่นๆ กำลังทำให้พื้นดินบนโลกเสื่อมลงเเละทำให้ห่วงโซ่อาหารที่คนหลายพันล้านคนต้องพึ่งพาตกอยู่สภาพเสี่ยง
ยกตัวอย่างราคาธัญพืชอาหารอาจเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7.6 ทำให้รายงานชิ้นนี้เน้นย้ำว่ากลุ่มคนที่เสี่ยงที่สุดจะเจอผลกระทบรุนเเรง มากกว่าคนอื่นเเละระดับเเก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มสูงขึ้นยังทำให้พืชมีคุณค่าทางสารอาหารลดลง
รายงานของสหประชาชาติชิ้นนี้ชี้ว่าเมื่อพื้นที่ทะเลทรายเเละพื้นที่เเห้งเเล้งขยายตัวมากขึ้น รวมเข้ากับปัญหาพื้นที่น้ำเเข็งในขั้วโลกเหนือลดลง พืชเเละสัตว์ลดจำนวนลงเเละทำให้ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่เเถลงข่าวรายงานผลการศึกษานี้ย้ำว่าโลกยังไม่หมดหวังเสียทีเดียว Jim Skea เจ้าหน้าที่ในคณะกรรมการวิทยาศาสตร์เเละศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Imperial College London กล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่าไม่ต้องการสร้างความหมดหวังเเต่ต้องการส่งสารให้ทุกคนรู้ว่ามาตรการทุกอย่างจะส่งผลดีต่อการเเก้ปัญหา
รายงานชิ้นนี้เสนอทางออกหลายอย่างที่เกี่ยวกับพื้นดินรวมทั้งการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน พื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์มากขึ้นเเละการจัดการดิน การอนุรักษ์ระบบนิเวศวิทยาเเละการฟื้นฟูที่ดิน การลดการตัดไม้เเละการเเก้ปัญหาที่ดินเสื่อมคุณภาพ การสูญเสียอาหารเเละการสร้างขยะ
รายงานนี้ชี้ว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้ถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์หรือสูญเสียไปเเละคนเราต้องระมัดระวังเรื่องการใช้ที่ดินมากขึ้นและควรเลี่ยงทางออกที่ไปเเย่งที่ดินกับการเกษตรกรรมเพราะยิ่งจะทำให้ปัญหาสภาพดินกลายเป็นทะเลทราย ดินเสื่อมโทรมรุนแรงขึ้นเเละกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร
นอกจากนี้ การชลประทานอาจนำเกลือไปสั่งสมในพื้นดินมากขึ้นหรือทำให้น้ำใต้ดินหมดลงเเละเมื่อทรัพยากรธรรมชาติที่ช่วยดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ถูกรบกวนโดยกิจกรรมของมนุษย์หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ เเก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่สั่งสมมาตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมาอาจหลุดลอดออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ
Louis Verchot ผู้ร่วมร่างรายงานเเละนักวิทยาศาสตร์ที่สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการเกษตรกรรมเขตร้อน (International Center for Tropical Agriculture) ในโคลัมเบียกล่าวกับเอพีว่าสิ่งพิเศษจากธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดจะไม่คงอยู่ตลอดไป เขากล่าวว่าหากคนเรายังคงทำลายความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศวิทยาทางธรรมชาติ ตัดไม้ทำลายป่า ทำลายดิน เราก็จะสูญเสียสิ่งดีๆ ที่ได้จากธรรมชาตินี้ไปในที่สุด
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)